(เพิ่มเติม) รมว.คลัง เล็งออกมาตรการกระตุ้นรอบใหม่หลังมองสัญญาณศก.อ่อนตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 21, 2016 13:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายส่วน ทั้งมาตรการที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในระยะยาวผ่านการสนับสนุนการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชน การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ การสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลได้เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว เพื่อให้พร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น แต่ในระหว่างทางนี้ หากมีปัจจัยที่เข้ามากระทบหรือเป็นปัจจัยที่ไม่ดี กระทรวงการคลังก็พร้อมจะเข้าไปเติมเต็ม

โดยมาตรการที่จะออกมาในรอบนี้ จะเป็นมาตรการที่ลงไปให้ความช่วยเหลือภาคเกษตรกรจากที่ก่อนหน้านี้อาจจะยังเข้าไม่ถึงมาตรการที่รัฐบาลเคยออกมาแล้ว ซึ่งยอมรับว่าอาจจะยังมีอยู่ค่อนข้างมาก สำหรับมาตรการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนที่ออกมาก่อนหน้านี้ ยืนยันว่าเป็นมาตรการที่จูงใจมาก แต่ภาคเอกชนอาจจะยังกังวล เพราะภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก แต่อยากให้มองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ เป็นการทำเพื่ออนาคตและคุ้มค่าที่จะลงทุนแน่นอน

"มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เตรียมจะออกมาในรอบนี้ ยังบอกรายละเอียดอะไรไม่ได้มาก คงต้องรอให้ถึงวันที่เราจะเติมเต็มให้กับส่วนที่ยังอ่อนแออยู่ จึงไม่อยากพูดรายละเอียดในเรื่องนี้ เพราะหากพูดไปแล้ว ผลที่คาดหวังอาจจะไม่เกิดขึ้น" รมว.คลัง กล่าว

นายอภิศักดิ์ ยังมั่นใจว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปีนี้ ยังขยายตัวได้ดี โดยเชื่อว่าจะสามารถเติบโตได้ 3.5% หรืออาจมากกว่านั้น แม้ว่าขณะนี้จะพบว่ามีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มอ่อนตัวลง เช่น เรื่องการลงทุนจากภาพรวมยอดขายปูนซิเมนต์ที่ปรับตัวลดลง และการจำหน่ายรถยนต์ในภาคขนส่งที่มีสัญญาณอ่อนตัวลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสะท้อนการบริโภคที่ปรับตัวลดลง โดยในส่วนนี้กระทรวงการคลังจำเป็นต้องเข้าไปดูแลในจุดที่มีความอ่อนแอลง ส่วนในไตรมาส 4 นั้น รัฐบาลจะพยายามสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แต่หากส่วนใดที่ไม่ดีหรือมีปัญหาก็จะลงไปกระตุ้นให้เติบโตได้

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่ง IMF มองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นประเทศที่มีความมั่นคงสูงที่สุดในกลุ่มของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เนื่องจากกลุ่มประเทศดังกล่าวส่วนใหญ่ยังมีปัญหาเรื่องเงินทุนไหลออก ขณะที่ไทยไม่มีปัญหานี้ และพบว่ายังมีการไหลเข้าของเงินทุนอีกด้วย แต่ IMF ยังติงเรื่องการลงทุนของภาคเอกชนไทยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงสูง

IMF ยังระบุอีกว่า ถ้าหากภาคเอกชนยังไม่เข้ามาลงทุน อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยในส่วนนี้กระทรวงการคลังได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อกระตุ้นการลงทุน และเรียกความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งให้รัฐวิสาหกิจที่มีแผนจะลงทุนอยู่แล้วในช่วง 1-2 ปีนี้ เลื่อนเข้ามาลงทุนในปีหน้า ซึ่งจะทำให้การลงทุนของประเทศเร่งตัวขึ้นอย่างมาก และเชื่อว่าภาคเอกชนจะเกิดความเชื่อมั่นและมีการลงทุนตาม

"เราจะให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนของภาครัฐวิสาหกิจ เพราะรัฐวิสาหกิจของไทยมีมูลค่าคิดเป็น 10 ล้านล้านบาท ถ้าลงทุนพร้อมกันทั้งหมด เชื่อแน่ว่าจะทำให้เอกชนเกิดความเชื่อมั่น และตามมาลงทุนด้วย ส่วนตัวเลขการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านั้น คงต้องให้ สคร.ไปรวบรวมเม็ดเงินมาก่อน แต่เท่าที่หารือในเบื้องต้น รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายของกระทรวงการคลัง และพร้อมจะทำตาม" รมว.คลัง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงยอดความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในเดือน ก.ค.59 หดตัว -3.8% เนื่องจากมีการก่อสร้างฐานรากของโครงสร้างพื้นฐานเสร็จสิ้นไปในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ส่งผลให้อัตราความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงต่อเนื่อง แต่หากพิจารณายอดรวมความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ค.59) ยังขยายตัว 0.5% ซึ่งคงต้องรอดูแนวโน้มในเดือนถัดไป นอกจากนี้ยังฤดูฝนที่เป็นช่วงนอกฤดูกาลก่อสร้างอีกด้วย

พร้อมระบุว่า หากที่ประชุมเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ ทำให้เงินบาทอ่อนค่าตามความต้องการของผู้ส่งออก ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูแลไม่ให้เกิดความผันผวนมากนัก โดยคาดว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยหรือขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่สี่ตามที่ส่งสัญญาณไว้

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจตอนนี้ที่ปรับตัวดีขึ้นจาก 0.8% ในปี 57 มาอยู่ที่ 3.5% ได้นั้น มองว่าอาจเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทำแบบนี้ได้ แต่การเติบโตที่ 3.5% จะไม่สามารถยั่งยืนได้ ถ้าไม่ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความแข็งแรงพอ ซึ่งหลังจากนี้รัฐบาลจะให้กระทรวงการคลัง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหรกณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งหามาตรการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งเมื่อ 2 ประเทศนี้ยังไม่ฟื้นก็จะส่งผลให้การส่งออกยังทรงตัว ถือว่าเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

"การสร้างอนาคตให้กับประเทศ รัฐบาลไม่ได้ทำตามกระแสของโพลล์ แต่ให้ความสำคัญกับการวางรากฐานให้กับประเทศ และอนาคตของประชาชน ซึ่งหากไม่มีการส่งเสริมด้านดิจิทัล หรือไม่ยกระดับการส่งออกสินค้า แม้ค่าเงินจะอ่อนลงไปแค่ไหนก็ไม่สามารถจะขายสินค้าได้ ซึ่งการทำออกมา เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัว และจะพยายามดูแล sector ที่อาจมีผลกระทบ เช่น กลุ่มคนจน หรือเกษตรกร และไม่อยากให้มีการพูดเรื่องการเมืองในตอนนี้ เพราะถือว่าไม่มีประโยขน์ จึงอยากวางรากฐานประเทศให้เห็นผลมากที่สุด" นายสมคิด กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ