(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ก.ย.59 ขยายตัว 0.38%,Core CPI ขยายตัว 0.75%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2016 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ก.ย.59 อยู่ที่ 106.68 ขยายตัว 0.38% เมื่อเทียบกับก.ย.58 และหากเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัว 0.04% ส่งผลให้ CPI ช่วง 9 เดือนปี 59 (ม.ค.-ก.ย.59) ขยายตัว 0.02%

"อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ย.59 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มการใช้จ่ายยของครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์ดีสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งในภาพรวมพบว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์มีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยสอดคล้องกับภาวะตลาด" น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าว

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.ย.59 อยู่ที่ 106.82 ขยายตัว 0.75% เมื่อเทียบกับ ก.ย.58 และขยายตัว 0.02% เมื่อเทียบกับ ส.ค.59 ส่งผลให้ Core CPI ช่วง 9 เดือนปี 59 (ม.ค.-ก.ย.59) ขยายตัว 0.74%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เดือน ก.ย.59 อยู่ที่ 116.33 เพิ่มขึ้น 1.47% เทียบกับเดือน ก.ย.58 แต่หดตัว 0.28% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 101.56 หดตัว -0.24% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.58 แต่ขยายตัว 0.22% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

สำหรับสินค้าที่มีการสำรวจราคาใน 450 รายการนั้น พบว่า ในเดือนก.ย.นี้ มีสินค้า 139 รายการที่ราคาปรับสูง เช่น ไข่ไก่, นมสด, มะนาว, น้ำมันพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ส่วนสินค้าอีก 112 รายการ ราคาปรับลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า, เนื้อสุกรฐ ผักและผลไม้สด เป็นต้น ขณะที่สินค้าอีก 199 รายการ ราคาไม่เปลี่ยนแปลง

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มขยายตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ 0.38% หรืออาจจะเพิ่มขึ้นกว่านี้เล็กน้อย ซึ่งคาดว่าทั้งปีอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ 0-1% โดยมีสมมติฐาน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ที่ 2.8-3.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ในช่วง 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในช่วง 35-37 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ดุลยภาพ และอุปสงค์เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ปัจจัยกดดัน คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาด และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจากนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ซึ่งส่งผลต่อรายได้จากภาคการส่งออก และรายได้ภาคครัวเรือน

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า จะมีการปรับลดรายการสินค้าที่ใช้เป็นตัวอย่างในการเก็บดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลงให้เหลือประมาณ 300 รายการ จากปัจจุบันที่เก็บอยู่ 450 รายการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากถูกตัดลดงบประมาณลง ประกอบกับเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่ามีการเก็บตัวอย่างสินค้าที่ใช้ทำดัชนี CPI เพียง 300 รายการเท่านั้น ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มใช้ได้อย่างเร็วในเดือนธ.ค.59 หรือไม่เกินเดือน ม.ค.60

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการปรับลดรายการสินค้าตัวอย่างลงเหลือเพียง 300 รายการนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสินค้าที่ตัดออกไปนั้น เป็นสินค้าที่มีความซ้ำซ้อน และไม่มีการเคลื่อนไหวของราคาที่โดดเด่น

"การปรับลดรายการสินค้าจากเดิมที่เก็บตัวอย่างไว้ 450 รายการนั้น คงจะลดลงมาเหลือประมาณ 300 รายการ ซึ่งเหตุผลมาจากที่โดนตัดงบประมาณ ส่งผลต่อการทบทวนการทำงานของสำนักฯ ทำให้เราต้องลดเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลด้วย ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วมีการเก็บตัวอย่างสินค้าเพียง 300 รายการเท่านั้น" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

นอกจากนี้ จะมีการปรับปีฐานของราคาสินค้าที่ใช้ในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคมาเป็นของปี 2558 จากปัจจุบันที่ใช้ของปี 2554 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นใช้ตั้งแต่ ม.ค.2560 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ