SCB EIC คาดตลาดการเงินระยะสั้นผันผวนหนัก จากความไม่แน่นอนการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 6, 2016 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย.นี้ นับว่าเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในระยะฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินเมื่อปี 51 โดยทั้งผู้นำใหม่และนโยบายที่ตามมาจะมีนัยสำคัญต่อภูมิศาสตร์ทางการเมืองและทิศทางเศรษฐกิจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

สำหรับไทยเองก็ต้องจับตามองผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าและแหล่งเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ที่สำคัญของไทย นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งจะสร้างความผันผวนในตลาดการเงินทั้งในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการเคลื่อนไหวของเงินทุนอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่มีสภาพคล่องส่วนเกินในเศรษฐกิจโลก ซึ่ง EIC มองว่าไทยควรเฝ้าระวังผลการเลือกตั้งครั้งนี้ และเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทิศทางการเมืองและนโยบายของสหรัฐฯ

SCB EIC เห็นว่า ความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งจะทำให้ตลาดการเงินผันผวนอย่างหนัก โดยเฉพาะในช่วงเดือนต.ค.ด้วยทั้งนี้ผลสำรวจความนิยมที่ยังค่อนข้างสูสี ประกอบกับความหวาดกลัวของนักลงทุนจากกรณี Brexit จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินในระยะสั้น โดยจากข้อมูลการเลือกตั้งในอดีตค่า CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความหวาดกลัวของนักลงทุนพุ่งสูงขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 21% ในเดือนก่อนการเลือกตั้ง (ต.ค.ของปีเลือกตั้ง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่การแข่งขันเป็นไปอย่างสูสี แต่จะลดลงหลังผลการเลือกตั้งออกมาเป็นที่แน่นอนแล้ว (ลดลง 8% โดยเฉลี่ยในเดือนพ.ย.ที่มีการเลือกตั้ง)

โดยในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีสภาพคล่องส่วนเกินอย่างในปัจจุบัน ความผันผวนดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของเงินทุนอย่างฉับพลัน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรง เช่น ในกรณีของ Brexit นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายเป็นแรงกดดันส่วนหนึ่งต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชนที่หดตัวติดต่อกันถึง 3 ไตรมาสแล้ว รายงานของ Bank of America ล่าสุดก็เปิดเผยว่าผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ มองว่าความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลต่อการตัดสินใจจ้างงานและการลงทุน รวมไปถึงผลการเลือกตั้งที่นอกเหนือความคาดหมาย ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจนทำให้ Fed ต้องเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปอีกก็เป็นได้

ขณะที่ในระยะกลาง ถึงแม้ความเป็นไปได้จะต่ำ แต่โอกาสที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะชนะการเลือกตั้งยังคงมีอยู่ และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายที่จะมีผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านนโยบายภาษี การคลัง และนโยบายการค้าระหว่างประเทศ จากที่เริ่มเห็นผลการอ่อนลงของค่าเงินเปโซของเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากนโยบายกีดกันทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์

สำหรับไทย นอกจากความน่ากังวลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกด้านคือการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีมีอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าสภาคองเกรส เมื่อเทียบกับนโยบายด้านอื่น โดยนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะสั่นคลอนความมั่นคงของการเมืองระหว่างประเทศจากการไม่สนับสนุนพันธมิตรอย่าง NATO หรือ การลดบทบาทของสหรัฐฯ ในเอเชีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าในภูมิภาคเอเชีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ