(เพิ่มเติม) ธปท.ห่วง NPL พุ่งไม่หยุดหลัง Q3/59 โต 2.89% แนวโน้มโตต่อเนื่องถึง Q1/60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 10, 2016 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเป็นห่วงทิศทางของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/59 จนถึงไตรมาส 1/60 หลังจากที่สิ้นไตรมาส 3/59 ปรับตัวขึ้นมาที่ 2.89% จาก 2.72% ในไตรมาส 2/59 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี

ทั้งนี้ ธปท.เปิดเผยการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/59 ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับการชำระคืนหนี้ของสินเชื่อธุรกิจซึ่งส่วนหนึ่งหันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.4% จากระยะเดียวกันของปีก่อน

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวว่า ในไตรมาส 3/59 คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยลงต่อเนื่อง ทั้งในสินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดย NPL มียอดคงค้าง 393.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 19.9 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.89%

"เชื่อว่าในไตรมาส 4 จะเห็นธนาคารพาณิชย์เข้ามาจัดการบริหารสินเชื่อ ปรับโครงสร้างหนี้และตัดหนี้ขายซึ่ง NPL จะไม่เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ โดยไตรมาส 1/60 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มอีก และหากเศรษฐกิจยังทรงตัว NPL จะเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 60 แต่ถ้าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว มีการปล่อยสินเชื่อภาคพาณิชย์มากขึ้น NPL ก็จะเริ่มดีขึ้น"นายดอน กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วน NPL ในกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภคจะพบว่าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกประเภท โดยสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวที่ 5.10% สูงสุดในรอบ 11 ปี แต่ถือว่าไม่กระทบมากเพราะสัดส่วนสินเชื่อมีประมาณ 1.7% ของสินเชื่อรวม ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.81% และ NPL สินเชื่อส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.94% ส่วน NPL สินเชื่อรถยนต์ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.81%

ขณะที่การปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวลงมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่ในด้านการขอสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากอัตราการใช้วงเงินสินเชื่อในภาคธุรกิจไตรมาส 3/59 อยู่ที่ 50% ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงปี 54-55 ที่อยู่ในระดับ 60% โดยไตรมาส 3 สินเชื่อที่ชะลอลง ได้แก่ สินเชื่อธุรกิจขยายตัว 1.1% และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัว 5.2%

“แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อทั้งปี คาดว่าจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 3% ซึ่งถ้าจะทำได้ในไตรมาส 4/59 จะต้องปล่อยสินเชื่อให้ได้เกิน 3 แสนล้านบาท แต่ก็เชื่อว่าการขยายตัวสินเชื่อทั้งปีจะได้ไม่ต่ำกว่า 2.4%"นายดอน กล่าว

ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/59 เพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุนเงินฝาก โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 97.1 พันล้านบาท หดตัว 9.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลของฐานรายได้จากการขายเงินลงทุนและเงินปันผลที่สูงในระยะเดียวกันปีก่อน

ขณะที่กำไรสุทธิเท่ากับ 49.8 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวที่ 2.6% และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.1% จาก 1.2% ในไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ ภาพรวมฐานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,372.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไร และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ