กนง.-กนส.เชื่อระบบการเงินไทยรับมือความผันผวนทั้งใน-ตปท.ได้ดี แต่คุณภาพสินเชื่อยังด้อยลง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 13, 2016 14:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.59 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินของไทย โดยเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ สถาบันการเงินและธุรกิจประกันภัยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ตลาดทุนไทยมีความทนทาน (resilience) เพียงพอสามารถรองรับเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมาได้

ธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีฐานะการเงินดี ขณะที่ภาคการเงินต่างประเทศมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องและมีฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ระบบการเงินไทยสามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดี

อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่อยังคงด้อยลง โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูงและกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในบางภาคส่วน ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์มีอุปสงค์ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและมีอุปทานคงค้างในบางพื้นที่

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ยังคงเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของกองทุนรวมที่มีลักษณะคล้ายเงินฝากและการออกตราสารที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ขณะที่ผู้ลงทุนสถาบันมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ลูกค้าคาดหวัง จึงอาจมีความเสี่ยงที่นักลงทุนจะประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (underpricing of risk) โดยในส่วนนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวไปแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงกฎเกณฑ์การเสนอขายและการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่นักลงทุน

นอกจากนี้ ยังเห็นพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีการขยายตัวของเงินรับฝากและหุ้นที่ระดมจากสมาชิกอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการเร่งปรับปรุงกรอบกฎหมายและกระบวนการกำกับดูแลความเสี่ยงให้รัดกุมและสอดคล้องกับปรัชญาการดำเนินงานของสหกรณ์

ในระยะต่อไป ระบบการเงินไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยง ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจนและเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่กระจายตัว จึงต้องติดตามความเปราะบางจากความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีแนวโน้มถดถอยลง ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น จึงต้องติดตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดของอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตร (yield snapback) ต่อต้นทุนการกู้ยืมและการต่ออายุเงินกู้ยืม (roll-over) ของภาคธุรกิจที่ระดมทุนผ่านการกู้ยืมและออกตราสารหนี้ระยะสั้น

ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้ร่วมกันประเมิน และติดตามความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงและบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันกำหนดสถานการณ์ที่จำลองภาวะวิกฤต (stress scenario) ส หรับใช้ทดสอบความเข้มแข็งของสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การก กับดูแลของทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อให้การทดสอบภาวะวิกฤตมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงกันทั้งระบบมากยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ