(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ย.59 โต 10.2% สูงสุดรอบ 9 เดือน คาดทั้งปีนี้อยู่ในช่วง -0.1% ถึงโต 0.2%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 26, 2016 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน พ.ย.59 พลิกกลับมาขยายตัว 10.2% จากตลาดคาด ขยายตัว 2.0-2.05% โดยการส่งออกมีมูลค่า 18,911 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าเดือน พ.ย.59 มีมูลค่า 17,368 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 3.0% ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน พ.ย.59 เกินดุล 1,543 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งผลให้ช่วง 11 เดือนของปี 59 (ม.ค.-พ.ย.59) การส่งออกมีมูลค่า 197,162 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -0.05% นำเข้ามีมูลค่า 177,441 ล้านดอลลาร์ หดตัว -5.1% เกินดุลการค้า 19,721 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากตลาดแรงงาน เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเศรษฐกิจจีนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นตามการลดลงของอุปทานในตลาด และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ส่งผลให้การส่งออกไทยในเดือนพฤศจิกายน 59 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะการค้าระหว่างประเทศที่ดีขึ้น โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยกลับมาขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาด ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ ขยายตัวในระดับสูง อีกทั้งการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยเป็นผลจากปริมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ นอกจากนี้การส่งออกสินค้าเกี่ยวที่เนื่องกับน้ำมันกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบกว่า 25 เดือน ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัวในเกณฑ์ดีหลังจากหดตัวในเดือนก่อน โดยขยายตัว 12.7% สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 25.9% (ส่งออกไปจีน เบนิน และแอฟริกาใต้) ยางพารา ขยายตัว 15.6% (ส่งออกไปจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น) มันสำปะหลัง ขยายตัว 18.4% (ส่งออกไปจีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 17.1% (ส่งออกไปสหรัฐฯ เวียดนาม และจีน) และไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 20.8% (ส่งออกไปญี่ปุ่น ลาว และเกาหลีใต้) ส่วนสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังคงหดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย ลดลง 23.5% (ส่งออกไปตลาดจีน ไต้หวัน และอินโดนีเซีย) รวม 11 เดือนแรกการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว 3.8%

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวในระดับสูงหลังจากหดตัวในเดือนที่ผ่านมา โดยขยายตัว 9.8% สินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 31.3% (ส่งออกไปบราซิล ญี่ปุ่น และจีน) เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ขยายตัว 34.8% (ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์) เม็ดพลาสติก ขยายตัว 10.9% (ส่งออกไปตลาดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 12.5% (ส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเวียดนาม) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ ขยายตัว 85.4% (ส่งออกไปตลาดสหรัฐ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์) ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัวมาก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทอง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ฯ เครื่องนุ่งห่ม หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลดลง 10.9% 17.1% 7.5% และ 9.8% ตามลำดับ) รวม 11 เดือนแรก การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 1.7%

สำหรับการส่งออกไปยังตลาดสำคัญกลับมาขยายตัวในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น จีน เอเชียใต้ และ CLMV ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยูโรโซน (15) สหรัฐฯ และอาเซียน (9) กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง

ส่วนการค้าชายแดนและผ่านแดนเดือน พ.ย.59 กลับมาขยายตัวที่ 0.1% เป็นผลจากการขยายตัวของการค้าชายแดนเป็นหลัก ขณะที่การค้าผ่านแดนหดตัวเล็กน้อย โดยการค้าชายแดน (ระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) มีมูลค่า 88,720.3 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.2%) ขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) มีมูลค่า 15,317.8 ล้านบาท (ลดลง 0.8%) รวมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนมีมูลค่าทั้งสิ้น 104,038.2 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.1%)

"รวม 11 เดือนแรกของปี 59 การส่งออกหดตัวเล็กน้อยที่ 0.05%เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การส่งออกของโลก พบว่าการส่งออกของไทยอยู่ในสถานะที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยการส่งออกโลกเฉลี่ยหดตัว 4.0% ขณะที่การส่งออกไทยเฉลี่ยหดตัวเพียง 0.05% เท่านั้น" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 59 คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน และมีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ทิศทางค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า จะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกทั้งปี 59 จะกลับมาโตเป็นบวก จากเดิมคาดหดตัว -1% ถึงโต 0%

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการค้าโลกในระยะต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า คาดว่าการส่งออกทั้งปี 59 จะมีมูลค่าระหว่าง 2.142 ถึง 2.149 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. หรืออยู่ในช่วง -0.1% ถึง 0.2%

"คาดว่าในเดือนธ.ค.การส่งออกจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งปี 59 คาดว่า จะอยู่ในช่วง -0.1% ถึง 0.2%" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1.ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคายางพาราและน้ำตาลทรายโลก 2.มูลค่าการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันมีทิศทางเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มราคาน้ำมัน หลังจากที่กลุ่มโอเปกและกลุ่มประเทศนอกโอเปกนำโดยรัสเซียบรรลุข้อตกลงเรื่องการปรับลดกำลังการผลิต 3.ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังจาก FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 13-14 ธ.ค.59 4.ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนอย่างชัดเจน และ 5.ตลาด CLMV ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะ อัญมณี เครื่องดื่ม และยานยนต์

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้มูลค่าการค้าโลกขยายตัวได้ดีในระดับที่เคยเป็นในอดีต 2.ความกังวลจากความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกในระยะต่อไป และ 3.ค่าเงินประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทั้ง มาเลเซีย และจีน อ่อนค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าว รวมทั้งอาจกระทบต่อการส่งออกไทยในตลาดที่เป็นคู่แข่งซึ่งกันและกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ