กยท. เผยราคายางช่วงปลายปีอาจชะลอลงเล็กน้อย แต่คาดปี 60 มีแนวโน้มปรับขึ้นตามปริมาณใช้เพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 26, 2016 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางว่า ในช่วงทุกสิ้นปีราคายางอาจชะลอลงเล็กน้อย เนื่องจากทุกประเทศผู้ซื้อเข้าสู่ช่วงวันหยุดจากเทศกาลต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม จากปริมาณสต๊อกยางในเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้นไม่มาก ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการขยายของจีนยังคงแข็งแกร่ง จึงคาดว่าราคายางในเดือนมกราคม 2560 โดยเฉลี่ยยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการควรต้องทยอยซื้อยางเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องมาจากราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางยังคงสามารถตัดสินใจขายเมื่อได้ราคายางอยูในระดับที่พอใจ ยังไม่จำเป็นต้องเทขายยาง สามารถทยอยขายได้เพื่อเก็งกำไรในแต่ละช่วง เนื่องจากราคายางยังคงรักษาระดับต่อไปจนถึงปีหน้า

ขณะที่ มองว่าการค้าและการส่งออกยางในปี 60 เมื่อพิจารณาพื้นที่ปลูกยางกับปริมาณการใช้ยางของโลก พบว่า มีแนวโน้มเกิดความสมดุลระหว่างผลผลิตยางและความต้องการใช้ยางของโลก เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางโดยรวมของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่สัดส่วนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในปี 60 ประมาณ 7 แสนตัน หรือประมาณ 5.7% ของผลผลิตยางของโลก

สำหรับประเทศไทยในปี 59 ผลผลิตถึงเดือนกันยายน 59 ประมาณ 4.452 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อน 0.32% ในปี 59 ผลผลิตโดยรวมของประเทศไทยลดลงกว่าปี 58 เล็กน้อย ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการตามมาตรการของรัฐและจากสภาพอากาศที่มีฝนตกต่อเนื่องยาวนาน

ในขณะเดียวกัน ปริมาณการใช้ยางโลกโดยเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 53-58 เพิ่มขึ้น 2.48% ในปี 58 มีปริมาณรวม 12.146 ล้านตัน น้อยกว่าปริมาณการผลิต 0.132 ล้านตันหรือ 1.08% ซึ่งจีนยังคงเป็นประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ สำหรับในปี 59 ถึงเดือนมิถุนายน ปริมาณการใช้ยางโลกเพิ่มขึ้น 2.7% และจากการคาดการณ์ GDP ในปี 60 คาดว่า GDP โลกจะโตขึ้น 3.34% เพิ่มขึ้นจากปี 58 ซึ่ง GDP อยู่ที่ 2.94% โดยประเทศหลัก เช่น สหรัฐคาด GDP จะอยู่ที่ 2.27% จากเดิม 1.53% จีน 6.43% จาก 6.66% ในปี 58 ญี่ปุ่น 1.03% จาก 0.75% ปี 58 อินเดีย 7.56% จาก 7.44% ในปี 58

“จากคาดการณ์เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ พบว่า แนวโน้มการค้าและสถานการณ์การส่งออกยางในปี 60 ยังคงมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฉบับที่ 13 (59-63) เน้นการพัฒนาทางการแพทย์ และนโยบาย “One Belt One Road” เส้นทางที่ทำให้ภูมิภาคเอเชียสามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลกได้ สร้างเขตการค้าเสรีที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกจากปี 60 นับว่าเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน จึงเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมยางไทย ประกอบกับในปี 60 ซึ่งเป็นปีแรกของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งคาดว่าทรัมป์จะพยายามผลักดันให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกดีตาม อีกทั้ง แนวโน้มการเกิด over supply ที่ลดลง อาจคาดได้ว่า การค้าและการส่งออก และราคายางในปี 60 คงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ว่าการ กยท. กล่าว


แท็ก ยางใน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ