(เพิ่มเติม) สศค.เผยศก.ไทยเดือนพ.ย.ปรับตัวดีขึ้น รับปัจจัยบวกจากส่งออกขยายตัวสูง บริโภคเอกชน-เบิกจ่ายรัฐยังหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 28, 2016 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2559 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2559 ปรับตัวดีขึ้นโดยได้รับปัจจัยบวกจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้สูงถึง 10.2% ต่อปี ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีสามารถรองรับความผันผวนจากต่างประเทศได้ดี

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันที่ 10.6% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ขยายตัว 12.2% และเขตภูมิภาคที่ขยายตัว 4.1% เช่นเดียวกับยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัว 2.1% ต่อปี ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง สะท้อนจากการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวสูงถึง 89.8% ต่อปี ทำให้รายจ่ายลงทุนในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ขยายตัวที่ 40.9% ต่อปี

มูลค่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2559 มีมูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ 10.2% ต่อปี โดยขยายตัวได้ดีในทุกกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรม อิเล็กทรอนิกส์ ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ และยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นสำคัญ โดยส่งออกไปยังตลาดหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เวียดนาม กลุ่มประเทศในอาเซียน และในแอฟริกา สำหรับมูลค่าการนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่าขยายตัว 3.0% ต่อปี จากการนำเข้าเชื้อเพลิง วัตถุดิบหักทอง และสินค้าทุน เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2559 ยังคงเกินดุลที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการผลิตยังคงมีสัญญาณที่ดี สะท้อนจากความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ระดับ 87.6 และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 20 เดือน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคาดหวังของผู้ประกอบการต่อมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นยอดขายในหลายอุตสาหกรรมในช่วงสิ้นปี ทำให้มีการผลิตเพื่อรองรับบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพฤศจิกายน 2559 ขยายตัวอยู่ที่ 0.6% และ 0.7% ตามลำดับ อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 1.0% ของแรงงานรวม นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 42.7% ถือว่ายังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60.0% ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2559 อยู่ที่ 174.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ณ เดือนตุลาคม 2559 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.3 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยในการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คาดว่าตัวเลขการส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์จากเดิม -0.5% แต่หลังจากเดือนพ.ย.ที่ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมาก ถือเป็นสัญญาณที่ดี ขณะที่ภาพรวม GDP ไทยปีนี้ยังยืนตามเป้าหมายเดิมที่ 3.3%

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ต้องจับตาสถานการณ์ลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งพบว่า ไตรมาส 1/60 ส่วนราชการมีการเบิกจ่ายภาพรวมตั้งแต่ 1 ต.ค. -23 ธ.ค.ไปแล้ว 8.9 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนราว 7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในไตรมาส 2/60 จะมีเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐเข้าสู่ระบบอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ