SCB EIC มองอสังหาฯ ไทยยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่จากการเก็งกำไร เหตุสถาบันการเงินเข้มงวดสินเชื่อ-ดอกเบี้ยยังเป็นไปตามกลไก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 12, 2017 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า จากราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ จากการเก็งกำไร

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 56 จนถึงเดือนตุลาคมปี 59 ราคาของบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 8% และ 15% ตามลำดับ และมีหน่วยเหลือขายเพียงเล็กน้อย ประกอบกับการก่อสร้างบ้านแนวราบยังมีการแบ่งเฟสพัฒนา จึงไม่น่ากังวลมากนัก ต่างจากคอนโดมิเนียมที่ราคาโตถึง 31% และมีหน่วยเหลือขายเพิ่มขึ้นถึง 34% เป็น 68,874 หน่วย ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการปรับราคาที่อยู่อาศัยที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงนั้นว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด

โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยของไทยปรับตัวสูงขึ้นนั้น มาจากราคาที่ดินที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้ซื้อ ราคาที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการพัฒนาโครงการขยับสูงอย่างรวดเร็วถึง 31% ในปี 58 เมื่อเทียบกับปี 56 โดยปัจจัยหลักมาจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่เชื่อมต่อนอกเมืองมากขึ้น การตัดถนนใหม่ หรือการขยายทางด่วน และมอเตอร์เวย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ราคาที่ดินที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ขยับตัวสูงขึ้นตามลำดับ โดยหากพิจารณาราคาที่อยู่อาศัยเปิดใหม่เฉลี่ยเทียบกับรายได้ต่อปีของผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า มีสัดส่วนเป็น 22 เท่า ในปี 58 สูงขึ้นจาก 16 เท่า ในปี 56 รายได้ที่เติบโตไม่ทันกับราคาที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยที่น้อยลง

อย่างไรก็ตาม SCB EIC ยังเชื่อว่า ปัญหาฟองสบู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังไม่น่าห่วง จากภาวะการเก็งกำไร แต่ผู้ประกอบการยังต้องระวังเรื่องการตั้งราคาโครงการใหม่ ทั้งนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยของสิงคโปร์และจีนที่ร้อนแรงนั้นเกิดจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัยที่ลดลงอย่างมาก ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยและกลไกตลาด ด้วยปัจจัยดังกล่าวจึงไม่กระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรของนักลงทุนในตลาดที่อยู่อาศัยมากนัก

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงหน่วยเหลือขายและหน่วยเปิดใหม่ที่เริ่มเติบโตในอัตราที่ช้าลง สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณของฟองสบู่ที่ชะลอตัวลง อีกทั้งสถาบันการเงินก็ไม่ได้หละหลวมและมีนโยบายการปล่อยสินเชื่อที่ระมัดระวังอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนได้จากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ที่เติบโตในอัตราที่ช้าลงตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นมา โดยเติบโตเพียง 3% ในเดือนกันยายนปี 59 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ สัดส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan) คิดเป็น 4.4% ของมูลค่าสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 59 เมื่อเทียบกับ 4.6% ในไตรมาส 3 ปี 56

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังต้องระวังเรื่องการตั้งราคาโครงการใหม่ที่สูงขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินในบางพื้นที่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เช่น โครงการที่อยู่อาศัยบริเวณรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดง อีกทั้งยังต้องระวังการแข่งขันด้านราคาระหว่างประเภทที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงที่อาจเพิ่มหน่วยเหลือขายในตลาด เช่น การแข่งขันระหว่าง ทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียม

SCB EIC มองว่า แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีสัญญาณของภาวะฟองสบู่ ซึ่งมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ จากภาครัฐอาจจะไม่ใช่ทางออกเดียว แต่การเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอาจช่วยกระตุ้นให้ตลาดดำเนินไปตามกลไกมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของภาครัฐที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์นั้นอยู่ในระดับที่สูง สะท้อนให้เห็นว่าผู้ซื้อยังมีกำลังซื้อ เพียงแต่ยังขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ และรอภาครัฐออกมาตรการกระตุ้น ดังนั้น การเรียกความเชื่อมั่นของผู้ซื้อให้มากขึ้นอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้ตลาดดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้ซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงล่าง จากรายได้ที่ขยายตัวช้า ประกอบกับภาระหนี้สินที่มีอยู่ค่อนข้างสูง ทำให้ความสามารถในการขอสินเชื่อและซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มนี้มีค่อนข้างจำกัด ซี่งสะท้อนได้จากสัดส่วนของที่อยู่อาศัยเหลือขายที่มีระดับราคา 1-3 ล้านบาทต่อหน่วยเพิ่มขึ้นเป็น 59% ณ กลางปี 59 จาก 50% ในสิ้นปี 56 ของหน่วยเหลือขายในทุกระดับราคา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ