(เพิ่มเติม) สนข.คลอดแผนแม่บทขนส่งระบบรางเฟส 2 มี 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 509 กม.เริ่มลงมือบางเส้นทางปี 60

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 25, 2017 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางที่ สนข. จะดำเนินการในปี 2560 เพื่อกำหนดระบบขนส่งมวลชนทางรางที่จำเป็นสำหรับกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องระยะเวลา 20 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม และรัฐบาล ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า สนข. เริ่มจัดทำแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ต่อเนื่อง (URMAP) ตั้งแต่ปี 2545 และในปี 2547 ได้มีการปรับปรุงแผนดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์และผังเมืองที่เปลี่ยนไป ตามโครงการแปลงแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง (BMT) และต่อมาในปี 2553 ได้มีการปรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (MMAP) ซึ่งกำหนดแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลักและสายรองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2553-2572) จำนวน 12 เส้นทาง ระยะทางรวม 509 กิโลเมตร ประกอบด้วย

1. รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต – มหาชัย) ระยะทาง 80.8 กิโลเมตร

2. รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) ระยะทาง 58.5 กิโลเมตร

3. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ (ดอนเมือง-พญาไท-สุวรรณภูมิ) ระยะทาง 50.3 กิโลเมตร

4. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-บางปู) ระยะทาง 66.5 กิโลเมตร

5. รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (ยศเส-บางหว้า) ระยะทาง 15.5 กิโลเมตร

6. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4) ระยะทาง 55 กิโลเมตร

7. รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 42.8 กิโลเมตร

8. รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร

9. รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 36 กิโลเมตร

10.รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร

11.รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-สะพานพระราม 9) ระยะทาง 26 กิโลเมตร

12.รถไฟฟ้าสายสีฟ้า (ดินแดง-สาทร) ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร

สำหรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (MMAP) ซึ่งแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2553 และหน่วยงานต่างๆ ได้นำแผนแม่บทนี้มาดำเนินการไปแล้วบางส่วน และปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ระหว่างศึกษาโครงการเพิ่มเติม ดังนั้น เพื่อให้โครงข่ายระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสามารถรองรับการเดินทางของประชาชนในเส้นทางต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นต้องศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 เพื่อช่วยให้การเดินทางของประชาชนจากเขตปริมณฑลเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และเกิดการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สนข. ได้นำกรอบแนวคิดในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และสนับสนุนเกื้อกูลระบบราง เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างสะดวก และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ในประเทศ (Local Contents) ในงานระบบรางให้มากที่สุด เช่นอุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในตัวรถ เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนการใช้ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) และศูนย์จอด (Stabling yards) ของระบบรางร่วมกัน (มีเท่าที่จำเป็นและสร้างเพิ่มภายหลังเพื่อลดต้นทุน) รวมทั้งออกแบบสถานีรถไฟฟ้าให้มีรูปแบบและขนาดพอเหมาะกับการใช้งาน

ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 เห็นชอบให้ สนข. ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าให้สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องในอนาคตได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาเมือง

          นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมของไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure Transport and Tourism, MLIT) ได้มีความร่วมมือด้านคมนาคมอย่างใกล้ชิดโดยให้มีการร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบราง (Memorandum of Cooperation, MOC) ร่วมกันหลายครั้ง โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency, JICA) ได้รับมอบหมายจาก MLIT ให้ดำเนินการศึกษาโครงการต่างๆ ภายใต้บันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าว และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559  ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กับ Mr. Hiroo Tanaka ผู้แทน JICA เรื่องการขอรับการสนับสนุนจาก JICA เพื่อศึกษาจัดทำแผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (MMAP2) โดยมีแนวคิด ในการดำเนินการศึกษา (MMap Concept) ดังนี้                                                                                                                                                                                     1. ทบทวนสถานะปัจจุบันของโครงการตามแผนแม่บทการขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งประสานแผนงาน ความก้าวหน้าการดำเนินงานของแต่ละโครงการ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ

2. ศึกษาทบทวนความเหมาะสมของโครงข่ายการขนส่งมวลชนระบบราง รวมถึงแต่ละเส้นทาง และรูปแบบการพัฒนาโครงการที่ได้กำหนดไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง

3. จัดลำดับความสำคัญของแต่ละเส้นทาง เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งแผนการเงินในการลงทุน กำหนดแนวทางและกลยุทธ์ในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบรางให้เป็นไปตามแผนแม่บท และสอดคล้องกับการเติบโตและการพัฒนาเมือง

4. ประชาสัมพันธ์เรื่องการขนส่งมวลชนระบบรางเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือ จากประชาชน

นายชัยวัฒน์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ประเมินผลการดำเนินงาน จากแผนแม่บทเดิมและกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินงานศึกษาแผนแม่บทฯ ระยะที่ 2 ร่วมกับคณะทำงานศึกษาของ JICA โดยจะมีการสัมมนาเพื่อวางกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนฯ ในต้นปี 2560 นี้ ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ