ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มอง"พร้อมเพย์"สร้างมูลค่าทางศก.กว่า 1.9 พันลบ.ในระยะยาว แม้ช่วงแรกกระทบรายได้แบงก์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 27, 2017 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า โครงการพร้อมเพย์ (PromptPay) สำหรับ “โอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล" ได้ฤกษ์เปิดให้บริการ พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 27 ม.ค. 60 ซึ่งโครงการดังกล่าว นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแผนงาน National e-Payment อย่างเป็นทางการ ก่อนจะต่อยอดไปสู่โครงการอื่นๆ ในอนาคต คาดว่าโครงการพร้อมเพย์คงสร้างผลบวกสุทธิต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1.9 พันล้านบาทต่อปี ในระยะ 10 ปีข้างหน้า แม้แรงหนุนในช่วงปีแรกๆ อาจจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก็ตาม

จากข้อมูล ณ เดือน ธ.ค.59 พบว่า ผู้ลงทะเบียนในโครงการพร้อมเพย์เบื้องต้นมีจำนวนราว 18 ล้านคน คิดเป็น 48% ของผู้มีงานทำ ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีที่บ่งชี้ถึงการยอมรับนวัตกรรมของผู้บริโภค โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โครงการ “พร้อมเพย์" จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ในแง่ของการประหยัดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน โดยทุกๆ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทดแทนการใช้จ่ายผ่านเงินสด จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้บริโภคมากกว่าร้อยละ 30 โดยเฉลี่ย รวมถึงมีส่วนช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดของระบบการเงินไทยในภาพรวม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โครงการพร้อมเพย์ที่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคลในอัตราที่ถูกลงมาก จนถึงไม่มีค่าบริการเลยเมื่อเทียบกับค่าบริการการโอนของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน คงกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมานิยมการชำระเงิน/โอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของแผนงาน National e-Payment ที่ต้องการลดการใช้เงินสดในระบบการเงินไทย

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของการปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด “Cashless Society" ตามที่คาดหวังจากโครงการ National e-Payment คงอยู่ที่การเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งในด้านความเชื่อมั่นต่อระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ซึ่งทางการมีกฎหมายกำกับควบคุมอีกชั้นหนึ่ง) รวมถึงการเพิ่มความคุ้นเคยให้กับผู้ใช้บริการ ผ่านการออกแบบ User Interface ให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน และเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย

ปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ผนวกกับความพร้อมของระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายการชำระเงินสำหรับรองรับธุรกรรมจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้การใช้ธุรกรรมการเงินของลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ปรับเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการใช้เงินสดอย่างในปัจจุบัน

ขณะที่ได้ประเมินผลกระทบที่เกี่ยวข้องหลังจากนี้ คาดว่าผลของโครงการพร้อมเพย์ต่อรายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ในปี 60 กรณีพื้นฐานนั้นคาดว่าน่าจะอยู่ที่ราว 3.1-3.6 พันล้านบาท ภายใต้สมมติฐานอัตราการยอมรับนวัตกรรมของผู้ใช้บริการ (Adoption Rate) ในปีแรกของโครงการพร้อมเพย์ที่ 60% ซึ่งผลกระทบดังกล่าวกลายเป็นโจทย์ระยะยาวที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องวางแผน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการมีความตื่นตัวมากขึ้น ควบคู่กับผลักดันนวัตกรรมบริการใหม่ๆ เพื่อสร้างฐานค่าธรรมเนียมที่มั่นคง

ทั้งนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินและการเรียกเก็บเงินคิดเป็นสัดส่วนราว 11.9% ของรายได้ค่าธรรมเนียม ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ (ซึ่งราว 5% เป็นรายได้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพร้อมเพย์) และเป็นสัดส่วน 2.4% ของรายได้รวมทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในกรณีพื้นฐาน

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมนั้น คาดว่า เมื่อโครงการพร้อมเพย์เดินหน้าอย่างเต็มที่แล้ว คงสร้างผลบวกสุทธิต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะ 10 ปีข้างหน้าได้ไม่ต่ำกว่า 1.9 พันล้านบาทต่อปี คำนวณจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลดลงของต้นทุนการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ (ตามการเปลี่ยนจากธุรกรรมเงินสดไปสู่ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีต้นทุนถูกกว่า) หักลบกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี ในช่วงปีแรกๆ มูลค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าว อาจจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากยังอยู่ในระยะแรกของการลงทุนและปรับปรุงกระบวนการต่างๆ

ในระยะถัดไป เมื่อโครงการพร้อมเพย์สำหรับการโอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P) ดำเนินการได้อย่างราบรื่นแล้ว คงจะเห็นการเชื่อมต่อระบบพร้อมเพย์ระหว่างบัญชีของนิติบุคคลกับนิติบุคคล (B2B) บัญชีนิติบุคคลกับลูกค้าบุคคล (B2C) และบัญชีลูกค้าบุคคลกับนิติบุคคล (C2B) ที่จะตามมาในอีกไม่นาน พร้อมๆ กับการขยายเครือข่ายร้านค้ารับบัตร หรือเครื่อง EDC/MPOS ตลอดจนการผลักดัน e-Tax Invoice กับ e-Receipt ตามโครงการ National e-Payment

ท้ายที่สุดแล้ว สังคมไทยจะเป็นสังคมไร้เงินสดช้าหรือเร็วเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมเชิงโครงสร้างของระบบการชำระเงินไทย และ Adoption Rate ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปที่ประมาณ 50% ได้ภายในไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 69 จากปี 60 นี้ที่น่าจะมีสัดส่วนราว 30% เท่านั้น (จากข้อมูลล่าสุดปี 58 ที่ 23.8%) ส่วนการใช้เงินสดและเช็ค ของลูกค้าที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 70% จะปรับลดลงเหลือต่ำกว่า 50%

ขณะที่โจทย์หลักของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อจากนี้นั้น นอกจากจะเน้นไปที่การสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบ และกระตุ้นให้มีการทำธุรกรรมผ่านโครงการนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและลดต้นทุนธุรกรรมให้มีความชัดเจนขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็คงต้องผลักดันนวัตกรรมบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ และค่าธรรมเนียมประเภทอื่นๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบในระยะแรกจากโครงการพร้อมเพย์ รวมถึงสร้างฐานรายได้ที่มั่นคง นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งยังต้องวางแนวทางบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ อาทิ สาขา หรือ ATM ที่อาจมีบทบาทลดลง รวมถึงพัฒนาทักษะความสามารถ (Upskill) ของพนักงานที่เกี่ยวข้องให้ตอบโจทย์ทิศทางผลิตภัณฑ์และบริการที่จะมีความซับซ้อนมากขึ้นได้ในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ