
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยสถานการณ์การเจรจาภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ล่าสุด หลังจากสหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) สำหรับ 22 ประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ 1 ส.ค.นี้ ส่วนไทยถูกเก็บภาษีสูงถึง 36% สูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น เวียดนาม (20%) มาเลเซีย (25%) และอินโดนีเซีย (32%) พร้อมเดินหน้ารวบรวมข้อมูลจาก 47 กลุ่มอุตสาหกรรมเสนอให้กระทรวงการคลังนำไปเจรจาต่อรองรอบใหม่
ปัจจุบันสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงทางการค้ากับเวียดนามและสหราชอาณาจักร (UK) แล้ว โดยได้ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามลงจาก 46% เหลือ 20% สำหรับสินค้าของเวียดนามเอง และ 40% กรณีสวมสิทธิ์จากต่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขควบคุมสินค้าถ่ายโอนจากจีน และลดภาษีนำเข้ารถยนต์จาก UK เหลือ 10% สำหรับโควตา 100,000 คันต่อปี พร้อมเปิดตลาดสินค้าเกษตร เช่น เนื้อวัวและเอทานอล สร้างความกังวลว่าไทยอาจเสียเปรียบในการแข่งขัน หากไม่สามารถเจรจาลดอัตราภาษีได้เท่าคู่แข่ง
ขณะที่จีน สหภาพยุโรป (EU) และอินเดียยังคงอยู่ระหว่างการเจรจา โดยเฉพาะจีนอยู่ระหว่างการพักชำระภาษีชั่วคราว (tariff truce) ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 12 ส.ค.นี้ โดยล่าสุดสหรัฐฯ กับจีนได้มีการเจรจาข้อตกลงการค้าร่วมกันระหว่างผู้แทนการค้าระดับสูงของสหรัฐฯ กับจีนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ข้อสรุปเรื่องการกำหนดอัตราภาษีสินค้านำเข้าว่า สหรัฐฯ ยังคงเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน 55% จากเดิมที่ระดับ 145% ส่วนจีนเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ 10% จากเดิมที่ระดับ 125% อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดี สี จิ้ง ผิง ยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงอย่างเป็นทางการ และยังไม่มีการออกมายืนยันจากทางรัฐบาลจีน
ข้อมูลล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2568 เผยว่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 58% ของ GDP โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนกว่า 47% ของ GDP หากไทยไม่สามารถเจรจาลดภาษีศุลกากรตอบโต้ให้ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง อาจทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าไปสหรัฐฯ สูงขึ้น สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและกระทบส่วนแบ่งตลาด รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน
เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศเก็บ Reciprocal Tariff กับไทยในอัตรา 36% ซึ่งสูงกว่าภาษีที่ใช้กับเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยหากไม่มีมาตรการรองรับคาดว่ามูลค่าความเสียหายต่อภาคการส่งออกอาจสูงถึง 800,000-900,000 ล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลการส่งออกเดือน พ.ค.68 อยู่ที่ 31,044.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตต่อเนื่อง 18.35% YoY และสูงสุดในรอบ 38 เดือน อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าในครึ่งปีหลัง หากไทยยังเผชิญภาษีในอัตราสูง การส่งออกอาจหดตัวกว่า -10% YoY ทำให้ภาพรวมทั้งปี 2568 ขยายตัวใกล้ศูนย์
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ 47 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์ ได้ร่วมประชุมหารือกันแล้วและกำลังอยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล ซึ่งเวลานี้ผู้ส่งออกเองก็พยายามปรับตัวรองรับผลกระทบ เช่น บางกลุ่มอุตสาหกรรมได้มีการเจรจาระหว่างผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายทางฝั่งสหรัฐฯ ให้ช่วยรับภาษีไปคนละส่วน เพื่อจะได้ช่วยกันแบ่งเบาภาระ แต่มีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทางผู้นำเข้าไม่รับเงื่อนไขนี้ พร้อมเสนอแนวทางให้ภาครัฐเร่งเจรจาลดอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้เหลือ 0% ในหลายพันรายการ เพื่อเดินหน้ามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ กลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูงกว่า 28-35% ของมูลค่าส่งออก รวมถึงยาง เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ของเล่น ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก ผลิตภัณฑ์หนังและเซรามิก ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบระดับสูงถึงสูงมาก
"ส.อ.ท.กำลังรอผลการศึกษาจากกลุ่มอุตสาหกรรม โดยจะต้องนำมาวิเคราะห์และตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็กำลังรอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งด้วย ซึ่งขณะนี้ได้มา 22 ประเทศจากร้อยกว่าประเทศ เนื่องจากตัวเลขจากหลายๆ ประเทศ เช่น อินเดียก็ยังไม่ถูกประกาศอย่างชัดเจน จึงทำให้บางกลุ่มอุตสาหกรรมยังคงต้องรอข้อมูลในส่วนนี้ก่อน แต่กำลังทยอยทำและจะนำมาเปรียบเทียบดูว่าประเทศไทยจะเสียเปรียบมากน้อยแค่ไหนก่อนยื่นให้กระทรวงการคลัง" นายเกรียงไกร กล่าวเบื้องต้น ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภาษีและรักษาความสามารถในการแข่งขัน ดังนี้
1.ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการจากที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ
1.1 ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) หรือมาตรการพักชะลอหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
1.2 ลดภาษีนิติบุคคลสำหรับเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ
1.3 อุดหนุนหรือลดค่าใช้จ่ายในการส่งออกและการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าบริการหน้าท่า พิธีการศุลกากร ค่าออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการประกอบธุรกิจ และค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เป็นต้น
1.4 ออกสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้นำค่าใช้จ่ายการจ้างสำนักงานกฎหมาย (Law Firm) ในสหรัฐฯ เพื่อศึกษาและเจรจากับภาครัฐสหรัฐฯ มาลดหย่อนได้ 3 เท่า
2.ส่งเสริมการเปิดตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ
2.1 เร่งการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ฉบับใหม่ ๆ เพื่อเปิดตลาดการค้า
2.2 ออกมาตรการส่งเสริมเพื่อหาตลาดใหม่ เช่น โครงการ SME Pro-active และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกและขยายตลาดต่างประเทศ (Trade Mission)
2.3 ส่งเสริมตลาดในประเทศ และการเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในสินค้าไทย (Made in Thailand - MiT) โดยมีแนวทาง ดังนี้
- ทุกหน่วยงานต้องสนับสนุนการใช้สินค้าและบริการที่ได้รับการรับรอง MiT อย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มเม็ดเงินลงทุนและสร้างการจ้างงานในไทยให้มากขึ้น
- หากภาคเอกชนเข้าร่วมและได้รับการรับรอง MiT จะสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า
- MiT ช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกทางอ้อม เพราะเป็นการเพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบและแรงงานภายในประเทศ (Local Content) ช่วยสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และยังสามารถนำแต้มสะสมหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจาก MiT ไปใช้ชดเชยหรือแลกรับเงินคืนในช่วงสิ้นปีได้
3.ออกมาตรการส่งเสริมการใช้ Local content ภายในประเทศ นอกจากมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น การลดภาษีนิติบุคคลสำหรับเอกชนที่ใช้ Local content มากกว่า 90% และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity)
4.กำกับดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนและแข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาค
"ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส.อ.ท.จึงขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน หากเรามีความร่วมมือที่เข้มแข็ง วิกฤตครั้งนี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาและยกระดับประเทศให้ดียิ่งขึ้น" นายเกรียงไกร กล่าว