(เพิ่มเติม) สศค.ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 60 เป็นโต 3.6% จากเดิม 3.4% มองยังมีโอกาสโตได้ถึง 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 30, 2017 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 60 ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.1-4.1%) จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ราว 3.4% เนื่อบจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้ ราคาน้ำมันสูงขึ้น และค่าเงินบาทก่อนช่วยหนุนการฟื้นตัวของการส่งออกอีกแรงหนึ่ง

อย่างไรดี สศค.มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ถึงระดับ 4% หากงบรายจ่ายกลางปีที่จัดทำเพิ่มเติม 1.9 แสนล้านบาท สามารถเบิกจ่ายได้ครบถึง 100% และหากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทยเกินกว่าเป้าหมายก็จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการส่งออกหากเติบโตได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ก็จะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจไทยได้มากเช่นกัน

"เราพยายามจะผลักดันให้เศรษฐกิจโตได้ 4% เพราะตอนที่เราประมาณการไว้ 3.6% นั้นเราคาดว่างบกลางปีอาจจะลงไปไม่ได้มากนัก เราคิดแบบ conservative ไว้ก่อน แต่ถ้าสามารถลงได้ทั้งหมดก็จะดีกว่านี้ และหากนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไทยได้มากกว่าเป้าหมาย ก็จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจเราให้โตได้ และการลงทุนรัฐวิสาหกิจ เราไม่ได้ประมาณการไว้สูงมาก แต่ถ้ารัฐวิสาหกิจลงทุนเร็วขึ้นในปีนี้ และถ้าส่งออกดีขึ้น ซึ่งก็ได้เห็นแนวโน้มจาก 2 เดือนที่ผ่านมาแล้ว ถ้าแนวโน้มหลายตัวดี เศรษฐกิจก็จะโตได้ในกรอบบนที่เราคาดไว้" นายกฤษฎา ระบุ

สศค.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน

ประกอบกับแนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกคาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามลำดับ คาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก และการส่งออกบริการคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 60 จะอยู่ที่ 1.8% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 1.3-2.3%) ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มราคาพลังงานที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 3.6% นั้นมาจากสมมติฐานที่สำคัญ 7 ด้าน ดังนี้

1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าหลักในปีนี้ ซึ่ง สศค.ได้ปรับประมาณการณ์เพิ่มขึ้นมาเป็น 3.40% จากเดิม 3.34% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศมีโอกาสเติบโตได้ดีขึ้น เช่น สหรัฐฯ ที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์, ญี่ปุ่น ได้รับผลดีจากนโยบายกระตุ้นของภาครัฐ และการลงทุนก่อสร้างเพื่อเตรียมรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ในปี 2020 ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง, เวียดนาม เศรษฐกิจได้รับผลดีจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นต้น

2.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่าในปีนี้เงินบาทจะอ่อนค่าลงจากปีก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ 35.75 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ทำให้มีเงินทุนไหลออก ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง รวมทั้งความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ Brexit ที่ทำให้สกุลเงินหลายประเทศอ่อนค่าลงเช่นกัน และปัจจัยเรื่องการชำระหนี้คืนของกรีซอีก 2.6 หมื่นล้านยูโรในปีนี้ที่จะส่งผลให้ค่าเงินผันผวนได้

3.ราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยคาดว่าในปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 53.70 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากในปีก่อน เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานเริ่มใกล้เคียงกันทำให้ไม่มีปัญหาอุปทานส่วนเกิน ประกอบกับประเทศทั้งในและนอกโอเปกร่วมกันลดกำลังการผลิตลง

4.ดัชนีราคาส่งออกและนำเข้า โดยคาดว่าปีนี้ดัชนีราคาส่งออกและนำเข้าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ตามแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัฑณ์ในตลาดโลก

5.อัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่าในปีนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 1.50% เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีสัญญาณความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น จึงเชื่อว่า กนง.จะยังคงดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม

6.นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 35 ล้านคน ขยายตัวจากปีก่อน 7.3% ในขณะที่คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 1.84 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%

7.รายจ่ายภาครัฐ โดยได้มีการเพิ่มเติมงบประมาณกลางปี 60 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท ไปในส่วนของโครงการพัฒนากลุ่มจังหวัด, กองทุนพัฒนา SMEs, กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ยังมีการเพิ่มเติมรายจ่าย action plan ของปี 60 เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ