รัฐเดินหน้าโครงการหลัก EEC ขยายสนามบินอู่ตะเภารับ 15 ล้านคน-ไฮสปีดเทรนเปิดร่วมทุนปลายปี60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 2, 2017 10:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมเตรียมความพร้อมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(EEC) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานในด้านต่างๆ ความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก รวมถึงความคืบหน้าของ 5 โครงการหลัก ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ท่าเรือแหลมฉบัง การลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง (รถยนต์ไฟฟ้า และ Bio-economy) และการพัฒนาเมืองใหม่

ทั้งนี้ 1.แผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา กำลังดำเนินงานในระยะแรก โดยภายในกลางปี 60 จะเปิดอาคารผู้โดยสารที่ 2 (รองรับ 3 ล้านคนต่อปี) และจะเริ่มการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานกับ บมจ.การบินไทย (THAI) และพันธมิตร มีแผนพัฒนาสนามบินให้รองรับผู้โดยสารจำนวน 15 ล้านคน ภายใน 5 ปี และให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 60 ล้านคนในอนาคต รวมทั้งการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยานเพิ่มเติม cargo อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน

2. การลงทุนรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกได้วางแผนให้รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก สามารถเชื่อมต่อได้ทั้ง 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) และจะเปิดให้เอกชนร่วมทุนในปลายปี 60

3. ท่าเรือแหลงฉบังระยะที่ 3 และท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งการดำเนินงานเป็นไปตามแผน ทั้งนี้ ได้เร่งรัดโดยเฉพาะกระบวนการทำ PPP ในพื้นที่ EEC ให้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

4. อุตสาหกรรม New S-curve ได้รับรายงานว่า นอกเหนือจาก มูลค่าการขอส่งเสริมการลงทุนใน EEC ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ยังได้ทราบแผนการลงทุน Bio-economy ของกลุ่มประชารัฐ D5 และได้เร่งรัดการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า โดยให้จัดทีมเพื่อนำบริษัทชั้นนำมาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการประกอบรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนและแบตเตอรี่

5. ที่ประชุมเห็นชอบกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่จะจัดตั้ง One stop services ที่ท่าเรือแหลมฉบัง และที่การนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ