นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า ในปีงบประมาณ 2560 นี้ รัฐบาลได้เตรียมจะดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มอีก 36 โครงการ วงเงินรวม 8.95 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ถึง 28 โครงการ โดยเมื่อรวมกับโครงการลงทุนตามแผนงานเดิมในปีงบประมาณ 2559 อีกจำนวน 20 โครงการ เงินลงทุน 1.4 ล้านล้านบาทแล้ว จะส่งผลให้มีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 2.2 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี สำหรับผลการเบิกจ่ายงบลงทุนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 20 โครงการ วงเงินรวม 1.4 ล้านล้านบาท พบว่ามีการเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเบิกจ่ายได้ 7.9-8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 60% จากเป้าหมายที่ 1 แสนล้านบาท
"การเบิกจ่ายที่ล่าช้า ส่วนหนึ่งยังติดปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ติดเรื่อง EIA เพราะถือเป็นปีที่เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการลงทุน โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ปัญหาเพื่อให้การทำงานสะดวกขึ้น เช่น แก้ไขกฎหมาย ปรับปรุงเรื่อง PPP ทำให้คาดว่าปีนี้จะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" รมว.คลัง กล่าวนายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนตามแผนการลงทุนเดิมในปีที่ผ่านมาได้ 1.6 แสนล้านบาท และสามารถเบิกจ่ายเงินลงทุนตามแผนการลงทุนใหม่ จำนวน 28 โครงการได้ 8 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2.4 แสนล้านบาท
ส่วนแผนการลงทุนโครงการใหม่ เช่น โครงการรถไฟรางคู่ 10 เส้นทาง, โครงการรถไฟชานเมือง 2 เส้นทาง, โครงการรถไฟขนส่งมวลชน 6 เส้นทาง, ทางหลวงพิเศษ และทางพิเศษ 5 เส้นทาง, โครงการที่เป็นการอำนวยความสะดวกการจราจร 5 โครงการ เช่น จุดพักรถ, โครงการรถโดยสารสาธารณะ (รถเมล์ NGV) 1 โครงการ จำนวน 200 คัน, ระบบตั๋วร่วม, โครงการลงทุนทางน้ำ 3 โครงการ และ โครงการลงทุนทางอากาศ 3 โครงการ
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงการลงทุนของภาคเอกชนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 2560 โดยคาดว่าบีโอไอจะสามารถอนุมัติคำขอรับส่งเสริมการลงทุนได้มากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้มีการปรับแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนแล้ว ซึ่งทำให้การทำงานในการอนุมัติการลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2559 มีภาคเอกชนยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอสูงกว่าปี 58 ถึง 195 -200% ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสะท้อนว่าการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปกติจะมีเม็ดเงินลงทุนของภาคเอกชนผ่านบีโอไอประมาณ 15% ของเม็ดเงินลงทุนรวมของเอกชนทั้งหมด ดังนั้นการขยายตัวที่สูงมากนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าการลงทุนภาคเอกชนกำลังจะเติบโตได้ดี
นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเติมเงินลงสู่ชุมชนและกองทุนหมู่บ้าน ก็สามารถเบิกจ่ายได้ตามเกณฑ์ เม็ดเงินลงสู่มือประชาชนที่มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริง โดยจากข้อมูลพบว่า 30% ของเม็ดเงินจากมาตรการดังกล่าว ประชาชนได้นำไปจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคที่จำเป็น เช่น อาหาร, เครื่องนุ่งหุ่ม ส่วนอีก 19% เป็นการนำไปชำระหนี้ และอีก 10% นำไปใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน
"ทั้งหมดนี้ เป็นไปได้ดีตามแผนงานเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ดังนั้นมาตรการเหล่านี้ ก็จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้เป็นอย่างดี" รมว.คลัง กล่าว