ภาวะตลาดเงินบาท: หลุด 35.00 มาปิดที่ 34.98 แข็งค่าจากช่วงเช้า ตลาดรอฟังถ้อยแถลงประธานเฟดคืนนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 14, 2017 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 34.98 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจาก เปิดตลาดเช้าที่ 35.05 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.97-35.07 บาท/ดอลลาร์ ตลาดรอดู ถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสคืนนี้

"บาทแข็งค่าลงมาแรงผิดคาด หลุด 35.00 บาท/ดอลลาร์ มาอยู่ในระดับเดียวกับเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ไม่มีสัญญาณ เข้าแทรกแซง คิดว่าแบงก์ชาติคงปล่อย" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 34.95-35.10 บาท/ดอลลาร์

*ปัจจัยสำคัญ

  • เย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ 113.41 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 113.55 ดอลลาร์/ยูโร
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ 1.0614 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0595 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,572.24 จุด ลดลง 13.00 จุด, -0.82% มูลค่าซื้อขาย 52,842.63 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,781.30 ล้านบาท (SET+MAI)
  • ศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ระดับ 64.92 จุด เพิ่มขึ้น
5.29 จุด หรือปรับขึ้น 8.87% จากเดือนมกราคม 2560 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อราคาทองที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือน
ที่สองติดต่อกัน หลังจากราคาทองคำในตลาดโลกมีสัญญาณในทิศทางบวก โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าปัจจัยเชิงบวกที่ส่งผลต่อราคาทองคำ
คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ การอ่อนค่าของเงินบาท ความต้องการซื้อสินทรัพย์
ที่ปลอดภัย และแรงซื้อเก็งกำไร
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) เกี่ยวกับการศึกษาเขตพิเศษยุทธศาสตร์คันไซ เพื่อนำมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และ
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันในการออกกฎหมายใหม่เพื่อรองรับเขตพิเศษ
  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดว่าในปี 60 แนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ไม่น้อยกว่า 66,000 ราย เนื่องจากภาวะ
เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งการบริโภคการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น และสอดคล้องกับการ
คาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 60 มีแนวโน้มขยายตัว 3.6% ซึ่งดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่
ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจด้าน
ต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เป็นต้น
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2559 ขยาย
ตัว 0.4% โดยได้แรงหนุนจากตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐ การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชน และการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างที่สูงขึ้น ซึ่ง
ปัจจัยเหล่านี้สามารถชดเชยมูลค่าการค้าต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง
  • นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะไม่ตัดความเป็นไปได้ในการเจรจาการค้าทวิภาคีร่วมกับ
สหรัฐ ตามที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐเป็นฝ่ายเรียกร้อง แต่จะทบทวนอย่างละเอียดเนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศ
  • ประธานสภาธุรกิจสหรัฐ-จีน (US China Business Council : USCBC) เปิดเผยว่า การค้าและการลงทุน
ระดับทวิภาคียังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนความสัมพันธ์ซึ่งมีเสถียรภาพระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งได้รับความใส่ใจเป็นอย่างดีจากทั้ง
2 ฝ่าย
  • ตลาดการเงินทั่วโลกต่างจับตานางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะแถลงนโยบายการ

เงินต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารแห่งวุฒิสภา ในวันที่ 14-15 ก.พ.นี้ โดยนักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดว่า ถ้อยแถลงของ

ประธานเฟดในครั้งนี้อาจจะมีการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไป หลังจากที่คณะกรรมการเฟดได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์

เงินเฟ้อในการประชุมเดือนก.พ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ