กกพ.คาดปีนี้ทยอยเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกว่า 1.2 พัน MW มูลค่าลงทุนกว่า 7 หมื่นลบ.,แนวโน้มค่าไฟเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 24, 2017 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกกกพ. คาดว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปีนี้จะสูงถึง 1,259 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 61-63 ทำให้เกิดการลงทุนสูงถึงกว่า 7 หมื่นล้านบาท หลังล่าสุดรัฐบาลอนุมัติการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ SPP Hybrid Firm และ VSPP Semi-Firm ตลอดจนรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาเพิ่มเติม โดยคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐที่จะรับซื้อรวม 42 เมกะวัตต์ น่าจะดำเนินการได้ภายในครึ่งแรกปีนี้ ส่วน SPP Hybrid Firm และ VSPP Semi-Firm รับซื้อรวม 568 เมกะวัตต์ น่าจะดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

"การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐน่าจะเกิดได้ง่ายกว่า จะพร้อมกับโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการและสหกรณ์ ระยะ 2 หรือไม่ ต้องรอดูก่อนอาจจะทำได้พร้อม ๆ กัน ภาพรวมน่าจะเปิดได้ในช่วงครึ่งปีแรก ส่วน Hybrid คงจะเกิดได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะต้องคุยเรื่องความชัดเจนการทำกติกา และระเบียบให้เรียบร้อยก่อน...หากรวมทุกโครงการตามนโยบายก็จะมีปริมาณรวมกว่า 1,200 เมกะวัตต์ เงินลงทุนราว 50-80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปีนี้ ประกอบด้วย 1. โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ราว 130 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเปิดรับซื้อระยะแรก 80 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือจะรับซื้อในระยะที่ 2 ต่อไป โดยขณะนี้ได้ออกประกาศรับซื้อสำหรับระยะแรกแล้ว โดยให้ผู้สนใจยื่นเอกสารในวันที่ 1-2 มี.ค.นี้ แต่มีแนวโน้มจะต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด หลังจากที่พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้ต้องรอกระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความชัดเจนก่อน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวกำหนดไว้ใน 8 พื้นที่ ซึ่งมีเจ้าของโครงการในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา มี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พระนครศรีอยุธยา และเทศบาลตำบลนครหลวง ,จ.นนทบุรี มี 2 โครงการ ได้แก่ อบจ.นนทบุรี (2) และอบจ.นนทบุรี (3) ,จ.ระยอง โครงการของอบจ.ระยอง , จ.หนองคาย โครงการของอบจ.หนองคาย , จ.กระบี่ โครงการของเทศบาลเมืองกระบี่ ,จ.ตาก โครงการของเทศบาลนครแม่สอด ,จ.อุดรธานี โครงการของเทศบาลนครอุดรธานี และกรุงเทพมหานคร มี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช โดยทั้งหมดต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในวันที่ 31 ธ.ค.62

2. โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะที่ 2 รวม 519 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นโควตาของหน่วยงานราชการ 400 เมกะวัตต์ และโควตาของสหกรณ์ภาคการเกษตร 119 เมกะวัตต์ หลังได้เปิดโครงการระยะแรกในปีที่ผ่านมาซึ่งเปิดรับซื้อเฉพาะในส่วนของโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์

3. โครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐ สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 42 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลไม่เกิน 12 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ไม่เกิน 30 เมกะวัตต์

4. โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก แบบผสมผสานในรูปแบบสัญญาเสถียร (SPP Hybrid Firm) และการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากแบบสัญญาเสถียรตามช่วงเวลา (VSPP Semi-Firm) โดยมีเป้าหมายการรับซื้อทั้งหมด 568 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ SPP Hybrid Firm ภายในปี 63 และ VSPP Semi-Firm ภายในปี 62 ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบนี้ จะทดแทนแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลในรูปแบบ FiT Bidding ทั่วประเทศแบบเดิม

นายวีระพล กล่าวว่า ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ระหว่างปี 58-79 กำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 16,778 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่นับรวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งล่าสุดสิ้นปี 59 ภาครัฐมีภาระผูกพันการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้วทั้งสิ้น 9,265 เมกะวัตต์ คิดเป็น 55% ของเป้าหมาย โดยในส่วนนี้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว (COD) รวม 6,722 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แต่ยังไม่ได้ COD อีกจำนวน 2,076 เมกะวัตต์ ขณะที่ตอบรับซื้อไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้เซ็น PPA จำนวน 467 เมกะวัตต์

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนั้น ปัจจุบันมีภาระผูกพันกับภาครัฐ 1,534 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อติดตั้งกังหันลมรวม 1,064 เมกะวัตต์ ขณะที่โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ COD แล้ว 5 โครงการ รวม 490 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ส.ป.ก.จำนวน 355 เมกะวัตต์ ขณะที่ยังคงเหลืออีก 10 โครงการ ที่ใช้พื้นที่ส.ป.ก. มีกำลังผลิตรวม 710 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างรอการรับใบอนุญาตประกอบกิจการต่าง ๆ จากกกพ.นั้น คงต้องรอให้มีความชัดเจนจากส.ป.ก.ในการอนุญาตให้เช่าใช้พื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลในช่วงวันที่ 1-2 เม.ย.นี้ กกพ.จึงจะมาพิจารณาเพื่อนุมัติการออกใบอนุญาตดังกล่าว

ทั้งนี้ กกพ.มีหน้าที่ให้บริการในรูปแบบ One Stop Service ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยจะออกใบอนุญาตทั้งในส่วนของใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารเพื่อประกอบกิจการพลังงาน (อ.1) ตามเกณฑ์ของกรมโยธาธิการ ,ใบอนุญาตสร้างโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า (รง.4) ตามเกณฑ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ,ใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) และใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า

นายวีระพล กล่าวอีกว่า แนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในปีนี้มีทิศทางขยับขึ้น ตามทิศทางราคาเชื้อเพลิง โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ปรับตามราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือน รวมไปถึงการอุดหนุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะปรับเพิ่มขึ้นมาที่ราว 23 สตางค์/หน่วย จากปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 21 สตางค์/หน่วย เนื่องจากการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์โซลาร์ฟาร์มค้างท่อ และการเปลี่ยนรูปแบบรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลเป็น Feed-in-Tariff (FiT) จากเดิมที่เป็นระบบ Adder นอกจากนี้กกพ.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติใหม่ด้วย หลังจากไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 52

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ