ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะถึงเวลาปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยไปเวียดนาม หลังปีนี้แซงมาเลย์เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 6, 2017 13:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ภาวะการส่งออกของไทยไปยังเวียดนามยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปี 2559 ที่ขยายตัวกว่า 5.9% โดยในปี 2560 คาดจะมีอัตราการเติบโตที่ระดับ 5.8% หรือมีมูลค่า 9,979 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แซงหน้ามาเลเซีย และกลายเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยในอาเซียนนับจากนี้เป็นต้นไป

"การส่งออกของไทยไปเวียดนามเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2559 ขยายตัวกว่า 5.9% เทียบกับการส่งออกไปยัง CLMV และอาเซียนซึ่งหดตัวที่ 0.1% และ 0.9% ตามลำดับ อีกทั้งยังเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เฉลี่ยที่ 12.1% ต่อปี ระหว่างปี 2557-2559 ส่งผลให้เวียดนามเป็นตลาดส่งออกที่น่าจับตามองของไทย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

โดยภาวะเศรษฐกิจของเวียดนามมีพัฒนาการที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องจากความสามารถในการส่งออกที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าขั้นกลางเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและสินค้าประเภททุนที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งผลให้ความสามารถในการนำเข้าสินค้าเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยมีพื้นฐานจากจุดเด่นด้านต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งภาครัฐยังได้มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศที่ชัดเจน การเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ เมื่อประกอบกับเวียดนามตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงและใกล้ชิดกันของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลมายังเวียดนามอย่างก้าวกระโดด กระทั่งเวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่สำคัญของภูมิภาคในเวลาอันรวดเร็ว

ปัจจุบันเวียดนามมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกว่า 70% ของสินค้าที่ส่งออกรวมทั้งหมด โดยมีสินค้าศักยภาพในการส่งออกอย่างโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างโดดเด่นในภาวะที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค Internet of Thing (IOT) โดยตลาดส่งออกสำคัญของเวียดนาม ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อที่สูง

ขณะเดียวกันเวียดนามยังไม่มีห่วงโซ่อุปทานและอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำภายในประเทศที่สามารถรองรับได้ ส่งผลไปยังความต้องการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) ในการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากสัดส่วน ของสินค้าขั้นกลางโดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า (Integrated Circuit: IC) และแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) และชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยการนำเข้าสินค้าขั้นกลางคิดเป็นสัดส่วนกว่า 37.8% ของการนำเข้าทั้งหมด และมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญเฉลี่ย 20.7% ต่อปี ในระยะ 7 ปีที่ผ่านมา โดดเด่นเหนือการขยายตัวของการนำเข้ารวมที่เฉลี่ย 12.8% ต่อปี

นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าประเภททุนอย่างเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก และรถยนต์ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้จะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าภาพรวมการนำเข้า แต่ก็นับได้ว่าได้รับอานิสงส์การขยายตัวควบคู่กับการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปเพื่ออุปโภคบริโภคมีการขยายตัวเฉลี่ยที่ 10.1% ระหว่างปี 2553-2559 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการนำเข้ารวม อีกทั้งค่อยๆ ลดทอนความสำคัญในการเป็นสินค้านำเข้าหลักลงไปจากความสามารถในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศเวียดนาม

ดังนั้น จากการนำเข้าสินค้าขั้นกลางและสินค้าประเภททุนที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม น่าจะสะท้อนให้เห็นภาพความต้องการของตลาดเวียดนามในฐานะเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่น่าจับตาของภูมิภาค โดยเวียดนามและไทยมีความใกล้ชิดกันในฐานะประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งยังมีเส้นทางคมนาคมทางถนนเชื่อมโยงระหว่างกัน ส่งผลให้การค้าระหว่างไทยและเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปเวียดนามเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ โดยเวียดนามมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากไทยที่ 4.6% ของการนำเข้าทั้งหมด

เมื่อพิจารณาการส่งออกของไทยไปยังเวียดนามพบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้าประเภทรถยนต์และเครื่องปรับอากาศเป็นหลัก ซึ่งในระยะ 4 ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 39.7% ต่อปี อย่างไรก็ดีความสามารถของภาคการผลิตในเวียดนามน่าจะก่อให้เกิดความท้าทายต่อสินค้าบางรายการในอนาคต อาทิ เครื่องปรับอากาศที่ได้เริ่มมีการตั้งฐานการผลิตในเวียดนามแล้ว อีกทั้ง สินค้าขั้นกลางอย่างเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ที่ไทยส่งออกไปเวียดนามในช่วงเวลาเดียวกันกลับขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.2% ต่อปี สวนทางกับการนำเข้าเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์โดยรวมของเวียดนาม ทั้งนี้การส่งออกของไทยไปยังเวียดนามในระยะ 7 ปี ที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ยที่ 8.3% ต่อปี ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของการนำเข้าสินค้าของเวียดนามในช่วงเวลาเดียวกันที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ 12.8%

"ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ไทยจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างสินค้าส่งออกไปยังเวียดนามเพื่อตอบสนองโอกาสจากตลาดเวียดนามอย่างแท้จริง โดยไทยจำเป็นต้องรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าไปยังเวียดนามโดยผ่านกลยุทธ์สำคัญ คือ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของเวียดนาม" เอกสารเผยแพร่

สำหรับการส่งออกสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Goods) ที่เวียดนามมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มมากขึ้นและเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตโดยสินค้าที่ควรสนับสนุนการส่งออก ได้แก่

1.สินค้าปิโตรเคมี อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกสำคัญไปยังตลาดต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน แม้ว่าเวียดนามจะอยู่ระหว่างผลักดันโครงการพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีครบวงจร แต่เนื่องจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นมีความซับซ้อน จึงต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรจึงจะสามารถผลิตเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ได้สำเร็จ ส่งผลให้ในระยะข้างหน้าเวียดนามยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวอยู่ โดยสินค้าเม็ดพลาสติกสำคัญที่มีการนำเข้า ได้แก่ เม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีน (HS 390110) เม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีน (HS 390220) สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตโทรศัพท์และสายไฟและบรรจุภัณฑ์อาหาร และเม็ดพลาสติก PET (HS 390760) เพื่อใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ โดยปัจจุบันไทยมีศักยภาพการส่งออกเม็ดพลาสติกไปยังเวียดนามโดยมีส่วนแบ่งตลาดที่ 15% ของเม็ดพลาสติกที่เวียดนามนำเข้าทั้งหมด โดยตามหลังเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเม็ดพลาสติกรายใหญ่ไปยังเวียดนามด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ 30% และไต้หวันและสิงคโปร์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดที่ใกล้เคียงกันที่ 20%

2.สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลาง โดยควรมุ่งเน้นส่งออกสินค้าขั้นกลางซึ่งเป็นที่ต้องการของเวียดนามอย่างแผงวงจรรวมหรือ (IC, HS 8542) และวงจรพิมพ์(PCB, HS 8534)ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อันเป็นอุตสาหกรรมการผลิตหลักของเวียดนาม ที่ปัจจุบันมีเกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้า IC สำคัญ โดยมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 70% ของการนำเข้า IC ทั้งหมด สำหรับ PCB นั้น เวียดนามมีการนำเข้าจากเกาหลีใต้และจีนเป็นหลักรวมกันที่ 80% ของการนำเข้า PCB ทั้งหมด ทั้งนี้ ไทยนับเป็นฐานการผลิต IC และ PCB ที่มีศักยภาพ หากแต่ปัจจุบันยังยึดโยงอยู่กับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ โดยมีการส่งออกไปยังประเทศผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกอาทิ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเป็นหลัก ดังนั้นไทยจึงควรใช้โอกาสเพื่อต่อยอดความชำนาญในการผลิต IC และ PCB สำหรับอุปกรณ์ที่สอดคล้องห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม อย่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการบริโภค อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ และอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา อาทิ สมาร์ทโฟน ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตและเป็นที่ต้องการในตลาดโลกในระยะข้างหน้า

3.ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ (HS 8517) เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานจากการที่เวียดนามเป็นฐานการผลิตและส่งออกโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่นับเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ศักยภาพที่มีแนวโน้มอุปสงค์ในตลาดโลกเติบโตในอนาคต ปัจจุบันเวียดนามนำเข้าชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือจากจีนและเกาหลีใต้เป็นหลัก โดยมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 80% ของการนำเข้าทั้งหมด ขณะที่การนำเข้าจากไทยมีสัดส่วนที่น้อยมาก โดยในปี 2559 มีสัดส่วนประมาณ 0.1% ของการนำเข้าชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือของเวียดนามทั้งหมด อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นเนื่องจากมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดที่ 2,441% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ แม้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางและชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือที่ไทยส่งไปยังเวียดนามจะยังคงมีสัดส่วนที่ต่ำมาก เนื่องจากมีการนำเข้าจากผู้ส่งออกหลักอย่างเกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี ด้วยขนาดตลาดที่ยังคงจะเติบโตอีกมากของสินค้าในกลุ่มประเภทดังกล่าว ผนวกกับความเชี่ยวชาญในการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีของไทย น่าจะสนันสนุนให้ไทยค่อยๆ เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมของเวียดนามได้ โดยในระยะแรกอาจต้องเผชิญข้อจำกัด เนื่องจากผู้ส่งออกรายใหญ่มีจุดแข็งจากการเป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยีหรือประเทศซัพพลายเออร์เดิมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานมายาวนาน แต่อย่างไรก็ดี ไทยน่าจะพอมีโอกาสเข้าไปแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ อย่างฮ่องกง และไต้หวันได้บ้าง

นอกจากนี้ สินค้าซึ่งตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของเวียดนาม อันประกอบด้วย เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ใช้ในการก่อสร้างรวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารและถนน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมซึ่งกระบวนการผลิตยังไม่ซับซ้อนนัก ได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและรองเท้า เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และเครื่องจักรเบ็ดเตล็ดทั่วไป ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลที่เวียดนามมีการนำเข้าเป็นอันดับต้นๆ ในปัจจุบัน ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสในการส่งออกผ่านการเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานกับเวียดนามของไทย

อนึ่ง จากเศรษฐกิจของเวียดนามที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการเติบโตของความเป็นเมือง (Urbanization) กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนประชากรเมือง (Urban population) ของเวียดนามจะแตะ 32.12 ล้านคน ในปี 2560 อีกทั้งยังมีแนวโน้มรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นโดยรายได้ต่อหัวประชากร (GDP per capita) ระหว่างปี 2555-2559 มีการเติบโตเฉลี่ย 7.2% ต่อปี แตะ 2,317.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 ด้วยปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้าของตลาดเวียดนามเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และเกิดความต้องการสินค้าคุณภาพมากขึ้น เวียดนามจึงนับเป็นตลาดสำคัญสำหรับสินค้าของไทยที่เน้นคุณภาพได้เป็นอย่างดี ซึ่งสินค้าที่ไทยควรสนับสนุนการส่งออก ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคบางประเภทที่มีคุณภาพสูงซึ่งสินค้าท้องถิ่นยังไม่สามารถตอบสนองได้อย่างสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และเครื่องสำอาง ก็นับว่ายังมีโอกาสอีกมากในตลาดเวียดนาม

"ทิศทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะข้างหน้าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่หลากหลายด้านหลักๆในฐานะที่เป็นฐานในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกจากความได้เปรียบทางด้านแรงงาน แต่ขณะเดียวกันในภาคการผลิตยังคงใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อนและพึ่งพาวัตถุดิบต้นน้ำ-กลางน้ำ เพื่อนำมาผ่านกระบวนการผลิต หรือประกอบในขั้นสุดท้ายก่อนส่งออกไปยังตลาดโลก ดังนั้นไทยจึงควรคว้าโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเวียดนามที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตอย่างเม็ดพลาสติกและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่าง PCB และ IC" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มดังกล่าวยังเป็นสินค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน ตามนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นนโยบายที่ผลักดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคตซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าเพื่อส่งอออก อันเป็นการรักษาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ