กยท. เตรียมตั้งตลาดกลางยางพาราในภาคเหนือ ยกระดับราคาในตลาดท้องถิ่นให้สูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 6, 2017 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท. มีแนวโน้มในการขยายการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราภาคเหนือ ซึ่งภาคเหนือเป็นพื้นที่ปลูกยางใหม่ของไทย ประมาณ 789,762 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 113,012 ตันต่อปี และมีกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้งสิ้น 55 แห่ง ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคเหนือเผชิญกับสภาพปัญหาด้านราคา ซึ่งเกษตรกรจะจะขายยางได้ราคาต่ำกว่าภาคอื่นๆ

ในขณะเดียวกัน หากสถานการณ์ราคายางตกต่ำก็ประสบกับขาดจุดรับซื้อผลผลิต ไม่สามารถขายผลผลิตได้ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กยท. เห็นว่าการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราภาคเหนือ เป็นการพัฒนาห่วงโซ่ยางพาราของพื้นที่ให้เป็นระบบ และเป็นธรรมทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

“การที่มีตลาดกลางยางพาราตั้งอยู่ในพื้นที่ปลูกยางและมีเกษตรกรประกอบอาชีพทำสวนยางสวนยางจำนวนมาก จะถือเป็นการช่วยยกระดับราคายางในตลาดท้องถิ่นให้สูงขึ้น เนื่องจากมีตลาดท้องถิ่นหลายๆ แห่ง ที่ใช้ราคาของตลาดกลางยางพาราเป็นราคาอ้างอิงในการตั้งราคา ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะสามารถขายผลผลิตยางพาราได้ในราคาที่เป็นธรรม ไม่ถูกกดราคาจากบริษัทรับซื้อยางรายย่อยๆ ในท้องถิ่น ยกระดับมูลค่าเพิ่มที่เกษตรกรจะได้รับจากการขายยาง ในขณะที่ผู้ซื้อยางที่เข้ามาประมูลยางจากตลาดกลางจะได้สินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เนื่องจากตลาดกลางยางพาราจะคัดคุณภาพยางโดยแบ่งชั้นคุณภาพยางเป็นมาตรฐานที่ชัดเจน"นายธีธัช กล่าว

กยท. ได้ดำเนินการเชื่อมโยงตลาดท้องถิ่น และตลาดกลางยางพาราซึ่งเป็นตลาดค้าขายระหว่างเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และกลุ่มผู้ผลิต บริษัทผู้ส่งออกหรือแปรรูปเพื่อส่งออก ซึ่งจะสามารถทำการค้ากับบริษัทผู้ซื้อยางรายใหญ่ในต่างประเทศโดยตรง เช่น บริษัทล้อยางรายใหญ่ของโลก จึงเป็นการเชื่อมโยงให้เห็นว่าผลผลิตยางที่ออกมาจะต้องมีทางออกสู่ตลาดที่ชัดเจน

ส่วนการเชื่อมโยงตลาดกลางยางพาราเข้ากับตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค (RRM) ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศไทยทำร่วมกันกับอีก 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อปรับปรุงแนวทางในการปฏิบัติ โดยตลาด RRM เป็นตลาดรูปแบบ spot trading เป็นตลาดซื้อขายจริงและส่งมอบจริง ตลาดแรกของโลก สินค้าที่จะเพิ่มเติมลงในในระบบซื้อขายตลาด RRM นอกเหนือจากยางแท่ง และยางแผ่น คือ น้ำยาง เพราะน้ำยางจะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้จริง และสะท้อนตัวราคาได้ในอนาคต ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ตลาดกลางยางพาราจะต้องดำเนินการรับซื้อยางแผ่นรมควันอัดก้อนหรือยางลูกขุนด้วย นอกเหนือไปจากการรับซื้อยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันอย่างในปัจจุบัน หรืออาจเป็นการส่งยางในตลาดกลางไปยังโรงรมใกล้เคียงเพื่ออัดก้อนเป็นยางลูกขุนก็จะสามารถเข้าไปเป็นสินค้าในตลาดปลายทาง(Terminal) อย่างตลาด RRM ได้ นอกเหนือไปจากนี้ กยท. ยังมีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนให้กลุ่มสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรที่มีโรงงานรมควันและอัดก้อนเป็นยางลูกขุนผ่านมาตรฐาน GMP เพื่อให้สามารถนำยางเข้าไปขายในระบบตลาด RRM ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ