สศอ. เคาะ 3 ยุทธศาสตร์ภายใต้แผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพภาคผลิต 5 ปี หวังเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 28, 2017 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ในปี 2559 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางด้านผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมจาก IMD รั้งอยู่ในดับอับที่ 55 จาก 61 ประเทศทั่วโลกนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเร่งแก้ไขปัญหาโดยทันที โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มอันดับความสามารถในการแข่งขันทางด้านผลิตภาพไปสู่ควอไทล์ที่ 3 (อันดับไม่เกินที่ 45) เพื่อก้าวข้ามขีดความสามารถดังกล่าวในปัจจุบัน

ทั้งนี้ สศอ.ได้จัดทำแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560 - 2564 เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยมุ่งเน้นที่ฐานอุตสาหกรรมเดิม สร้างความแข็งแกร่งและความพร้อมในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) หรือยกระดับสู่การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น (Value Shifted)

โดยยุทธศาสตร์ภายใต้แผนแม่บทฯ มี 3 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

1. ยกระดับผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมไทยโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและระบบบริหารจัดการสมัยใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อยู่บนพื้นฐานผลิตภาพที่เข้มแข็ง ผ่านการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิต เทคโนโลยีการผลิต และผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น และ/หรือลดต้นทุนการผลิต มีระบบการบริหารจัดการภายในองค์กร และ/หรือเครือข่ายการผลิตที่เป็นเลิศ ยกระดับมาตรฐานการผลิตเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และพัฒนาอุตสาหกรรมให้เติบโตพร้อมกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและการเพิ่มคุณค่าให้กับสังคม เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

2. ยกระดับผลิตภาพทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะรอบด้าน สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยทรัพยากรมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมจะหมายรวมทั้งระดับปฏิบัติการและระดับบริหารจัดการซึ่งมีความสำคัญต่อการยกระดับผลิตภาพ บุคลากรควรมีการพัฒนาให้มีทักษะมากกว่า 1 อย่าง (Multi-Functional Skill) เพิ่มเติมจากทักษะเฉพาะด้านที่จำเป็น (Smart Skill) ร่วมกับทักษะด้านภาษาอังกฤษ และการพัฒนาทักษะเพื่อการเตรียมสมรรถนะหลักในอนาคต (Future Core Competency) สำหรับระดับบริหารจัดการ บุคลากรจะต้องมีความสามารถในการบริหารความไม่แน่นอน (Uncertainty Management) มีความสามารถในการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ (Business Excellence Management) และมีความเชี่ยวชาญทางด้านผลิตภาพ ทั้งนี้ หากภาคอุตสาหกรรมสามารถกำหนดสมรรถนะหลัก (Core Competency) ของบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและแนวทางพัฒนาประเทศในอนาคตจะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน

3.การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพที่นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการรวมกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่มุ่งเน้นเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ผ่านความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานเป็นกลไกสำคัญ และบทบาทของหน่วยงานรัฐในการกำหนดมาตรฐานและกฏระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอนาคต การประเมินและบริหารจัดการความไม่แน่นอน (Uncertainty Management) ความโปร่งใสในการทำงานที่ตรวงสอบได้ และธรรมาภิบาลในภาครัฐ

ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวต่อว่า หนทางในการดำเนินการยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ตามแผนแม่บทฯ ทาง สศอ.ได้วางกลไกขับเคลื่อนเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จตามแผนแม่บทฯ ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ โดยกลไกขับเคลื่อนดังกล่าวประกอบด้วย

1. การร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติ ซึ่งมีคณะกรรมการส่งเสริมผลิตภาพแห่งชาติทำหน้าที่พิจารณาเห็นชอบนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการส่งเสริมผลิตภาพของประเทศ

2. การจัดตั้งสำนักงานเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฏหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนผลิตภาพแห่งชาติ เพื่อใช้ในกิจการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ

3. การปรับบทบาทสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติให้เป็นหน่วยงานระดับกลยุทธ์ (Strategic Unit) เพื่อยกระดับผลิตภาพรวมของประเทศในทุกส่วนที่เกี่ยยวข้อง รวมทั้งกำหนดทิศทางและจัดทำแผนบูรณาการในการผลักดันเพื่อยกระดับผลิตภาพรวมของประเทศ ครอบคลุมปัจจัยที่สำคัญ อาทิ แรงงาน เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งปัจจัยสนับสนุน (กฏ ระเบียบข้อบังคับ ระบบมาตรฐาน กระบวนการ ผู้เชี่ยวชาญ)

นายศิริรุจ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มดำเนินการตามแผนแม่บทฯ แล้ว โดยปัจจุบันมีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.2560 งบบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ วงเงินจำนวน 221.7897 ล้านบาท จำนวน 25 โครงการ อีกทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำคำของบประมาณปี 2561 งบบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงต่างๆ จำนวนวงเงินงบประมาณ 632 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานงบประมาณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ