ธปท.กระตุ้นผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงค่าเงินผันผวนเพื่อความอยู่รอดยั่งยืนในระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 11, 2017 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่บทความ"รับมือบาทผันผวนด้วยการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน"ระบุว่า ความผันผวนในตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ และอาจรุนแรงขึ้นในอนาคต จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกและนำเข้า เพราะแม้แนวโน้มการค้าของไทยเริ่มฟื้นตัว แต่คงไม่มีใครอยากให้กำไรถูกกลืนหายไปด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดเดาทิศทางได้ยาก

ทั้งนี้ ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือน ก.พ.60 สะท้อนความกังวลเพิ่มขึ้นเพราะเกรงว่าค่าเงินบาทผันผวนจะมีส่วนทำให้ผลประกอบการแย่ลง จึงเริ่มมีการเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาภาครัฐก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่จะอยู่รอดปลอดภัยอย่างยั่งยืนในระยะยาวคือภาคเอกชนจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

บทความระบุว่า เป็นที่น่าตกใจว่าผู้ส่งออกไทยกว่า 60% ไม่ทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินเลย แม้อาจ0tมีลู่ทางที่ช่วยลดความเสี่ยงลงบ้าง เช่น การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้สามารถบริหารรายได้และรายจ่ายที่เป็นเงินสกุลเดียวกันได้ แต่ในภาพรวมการป้องกันความเสี่ยงของผู้ส่งออกไทยยังถือว่าค่อนข้างต่ำ จึงมีโอกาสสูญเสียรายได้จากความผันผวนของค่าเงิน

"สมมติว่า มีการส่งออกสินค้ามูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สรอ. ที่อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน 35 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. หากเงินบาทแข็งค่าไปที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.จะทำให้รายได้ลดลง 1 ล้านบาท แต่ถ้าทำสัญญาขายเงินล่วงหน้าตามอัตราแลกเปลี่ยนในตลาด จะทำให้ผู้ส่งออกสามารถรับรู้รายได้ที่แน่นอนโดยไม่ต้องห่วงเรื่องทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทว่าจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า"บทความระบุ

อีกทั้งผู้ประกอบการบางส่วนอาจไม่อยากป้องกันความเสี่ยงเพราะคิดว่าทางการจะคอยดูแลไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวมาก จึงไม่ควรขาดทุนกำไรไปบางส่วนเพื่อไปเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยง แต่ข้อเท็จจริงคือ ค่าเงินเกือบทั้งโลกมีความผันผวนมากขึ้น แม้ค่าเงินบาทโดยรวมผันผวนน้อยกว่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆ แต่ก็เคลื่อนไหวผันผวนขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ตามสภาพของตลาดโลกที่ไม่อาจทัดทานได้

ที่สำคัญ ผู้ประกอบการที่ป้องกันความเสี่ยงน้อยคือผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งจำนวนหนึ่งยังขาดความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง หรืออาจเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคาร แต่จากข้อมูลพฤติกรรมการป้องกันความเสี่ยง พบว่าผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยอาจพยายามเก็งทิศทางค่าเงิน และเลือกที่จะไม่ป้องกันความเสี่ยงทั้งที่มีโอกาสทำได้ ดังนั้น จึงเห็นพฤติกรรมการป้องกันความเสี่ยงที่ขาดความต่อเนื่องจนเกิดอาการแห่ป้องกันความเสี่ยงในช่วงใดช่วงหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งจะยิ่งกดดันค่าเงินและซ้ำเติมผลกระทบให้ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่นในช่วงเดือน ก.ค.55-มิ.ย.56 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวค่อนข้างมากทั้งด้านแข็งค่าและอ่อนค่า สัดส่วนผู้ส่งออกรายเล็กที่ป้องกันความเสี่ยงเหวี่ยงขึ้นลงระหว่าง 33% กับ 46% เปลี่ยนแปลงมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ป้องกันความเสี่ยงที่อยู่ราว 60% จึงเป็นอุทาหรณ์ว่าเมื่อเกิดความชะล่าใจอาจต้องมาเร่งปิดความเสี่ยงในภายหลัง ซึ่งนอกจากต้นทุนจะสูงขึ้นแล้ว ยังจะสร้างความกังวลโดยไม่จำเป็น กลายเป็น“เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย" ไป

การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหนึ่งในภูมิคุ้มกันความมั่นคงของรายได้ที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งผู้ประกอบการสามารถสร้างได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นพิจารณาธุรกิจของตนว่ามีภาระทั้งการนำเข้าและส่งออกหรือไม่ และจะสามารถบริหารรายได้กับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศด้วยการนำรายได้และรายจ่ายสกุลเดียวกันที่มีการส่งมอบในเวลาใกล้เคียงกันมาหักกลบลบหนี้ได้หรือไม่ (Natural hedge) หรือหากผู้ประกอบการสามารถรับชำระหรือจ่ายค่าสินค้าเป็นเงินบาทก็จะช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินไปได้มากหากสามารถตกลงกับคู่ค้าได้

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังสามารถใช้บริการทางการเงินผ่านธนาคารเพื่อป้องกันความเสี่ยงอย่างเช่นการเปิดบัญชี FCD เพื่อนำเงินรายได้สกุลเงินตราต่างประเทศฝากเข้าบัญชีไว้ตรียมชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าสินค้า บริการ และภาระหนี้ที่เป็นสกุลต่างประเทศ โดยการใช้บัญชี FCD มีต้นทุนเป็นค่าธรรมเนียมฝากหรือถอน (Commission in Lieu) รวมทั้งค่าธรรมเนียมอื่นๆ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร หรือบริหารความเสี่ยงด้วยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward contract)

ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญก็สามารถเลือกใช้เครื่องมือที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น การซื้อสิทธิในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Options contract) เพื่อช่วยเสริมให้สัญญามีความยืดหยุ่นในยามที่ค่าเงินผิดไปจากความคาดหมาย โดยเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้เมื่อถึงวันครบกำหนด แต่ก็มีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่สูงขึ้น

ผู้ประกอบการมือใหม่ที่สนใจป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินโดยใช้สัญญาล่วงหน้าสามารถติดต่อขอเปิดวงเงินจากฝ่ายสินเชื่อของธนาคารที่ผู้ประกอบการใช้บริการเป็นหลัก โดยยื่นหลักฐานว่ามีการส่งออกหรือน เข้าสินค้าจริง เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า หรือ Letter of Credit (L/C) เพื่อให้ทางธนาคารพิจารณาวงเงิน Forwards หรือ Options ที่เหมาะสมตามมูลค่าธุรกรรมทางการค้าและเครดิตของลูกค้า เมื่อลูกค้าผ่านเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดก็สามารถซื้อสัญญาป้องกันความเสี่ยงได้ทันที

บทความดังกล่าวระบุอีกว่า การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างถูกวิธีและมีวินัยจะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบราคาสินค้าที่ซื้อหรือขายในอนาคตได้อย่างแน่นอน โดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และช่วยให้การวางแผนธุรกิจในอนาคตง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การที่ผู้ประกอบการจะอยู่รอดได้ในระยะยาวจำเป็นต้องเกิดจากการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของรายได้อย่างยั่งยืนโดยไม่มุ่งหวังกำไรจากค่าเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ