(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกวางรากฐานรองรับ EEC

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 11, 2017 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติอนุมัติหลักการเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หลังจากที่ ครม.ได้เคยอนุมัติในหลักการไปแล้วและส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกากลับไปเพิ่มเติมในบางประเด็นและส่งกลับมาให้พิจารณาอีกครั้งในวันนี้

สำหรับประเด็นสำคัญที่ได้มีการพิจารณาเพิ่มเติม คือ การปรับเปลี่ยนชื่อร่างกฎหมายมาเป็น ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งในเบื้องต้นจะประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา แต่ในอนาคตอาจจะจังหวัดอื่นเข้ามาเพิ่มเติมด้วยก็ได้ โดยจะออกมาเป็นกฎหมายในภายหลังอีกครั้ง

นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบาย หรือซูปเปอร์บอร์ด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีจาก 11 กระทรวงเข้ามาเป็นกรรมการ แต่ทั้งนี้ที่ประชุม ครม.เห็นว่าควรจะเพิ่มอีก 2 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย จึงได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาประเด็นนี้อีกครั้ง

ทั้งนี้ ซูปเปอร์บอร์ดจะมีอำนาจในการประกาศพื้นที่เล็กว่าพื้นที่ใดใน 3 จังหวัดดังกล่าวจะเป็นเขตที่ได้รับส่งเสริมให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการลงทุน เช่น นิคมอุตสาหกรรม, ท่าเรือ หรือสนามบิน เป็นต้น

พร้อมกันนี้ จะมีการอำนวยความสะดวกพิเศษให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้เกิดความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยจะติดกฎหมายต่างๆหลายฉบับ ด้วยการให้สำนักงาน EEC สามารถออกใบอนุญาตต่างๆ ได้ในรูปแบบของ One Stop Service

นอกจากนี้ยังเสนอให้โอนอำนาจการออกใบอนุญาตบางส่วนให้กับสำนักงาน EEC เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการอนุญาตเรื่องต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ร่วมทุน, กฎหมายคอนโดมิเนียม, กฎหมายการทำงานคนต่างด้าว, กฎหมายวิชาชีพ, กฎหมาย อย., กฎหมายทะเบียนการค้า เพื่อรวมศูนย์กลางการอนุมัติมาอยู่ในจุดเดียวกัน ซึ่งสำนักงานกฤษฎีการับกลับไปพิจารณาว่าอะไรที่จะให้หน่วยงานต้นสังกัดทำเอง หรืออะไรที่จะโอนอำนาจให้สำนักงาน EEC ในการเป็นผู้ดำเนินการ One Stop Service ในการดูแลนักลงทุน

ขณะเดียวกันจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออกขึ้น เพื่อช่วยเหลือดูแลตลอดจนเยียวยาประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพิเศษนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณูปโภค, การศึกษา, การจราจร และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยเงินกองทุนจะมาจากเงินของบริษัทต่างๆที่เข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่ และเงินช่วยจากกิจกรรมต่างๆ เมื่อได้เงินสะสมมาแล้วจะนำไปใช้พัฒนาพื้นที่หรือชุมชน ตลอดการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนหรือชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก

รวมทั้งการแก้ไขเร่งรัดการลงทุนแบบ EEC Fast Track ให้ลดเหลือ 8-10 เดือน จากเดิม PPP Fast Track มีระยะเวลาเตรียมการลงทุนมากกว่า 20 เดือน ด้วยการให้หลายหน่วยงานศึกษาแผนลงทุนไปพร้อมกันเมื่อรัฐบาลอนุมัติให้เดินหน้าแผนลงทุน

"โดยรวมแล้วกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญ และเป็นครั้งแรกในไทยที่ยกระดับพื้นที่ขึ้นมาและให้อำนาจกับหน่วยงานที่จะไปดูแลบริหารจัดการพื้นที่เต็มรูปแบบ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศอย่างที่เราไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งวันนี้ครม.ได้เห็นชอบในหลักการเพิ่มเติม และได้มีข้อเสนอแนะบางส่วนให้กฤษฎีกาไปปรับปรุงแก้ไข คาดว่าประมาณ 1 เดือนจะส่งคืนกลับมาให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง" นายกอบศักดิ์ ระบุ

นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า ความตั้งใจของ EEC คือ จะเป็นพื้นที่ที่ให้สิทธิประโยชน์เหนือกว่าพื้นที่อื่นๆที่เคยทำมา เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ กำลังดำเนินการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษลักษณะนี้จำนวนมาก เช่น มาเลเซีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เราจึงตั้งใจอยากให้พื้นที่ EEC ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาและให้ความสะดวกที่ดีที่สุดเท่าที่จะให้ได้ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่นักลงทุนสนใจ

"คือไม่จำเป็นที่จะไม่ต้องแลกเป็นเงินบาท ไม่ต้อง Convert กลับไปกลับมา เพราะเราต้องการดึงดูด Regional Head Quarter มาตั้งที่เมืองไทย หรือ Trading Company ถ้ามีการบริหารจัดการทั้งภูมิภาคแต่มาตั้งที่เมืองไทยและทุกครั้งนำเงินเข้ามาในประเทศไทยต้องมีการแปลงเงินบาทก็จะเป็นภาระของนักลงทุน กำลังหารือกับ ธปท.ว่าเราจะเขียนในกฎหมายอย่างไร ซึ่ง ธปท.รับว่าจะไปปรับกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ในปัจจุบันเพื่อเอื้อให้ตรงกับความต้องการของนักลงทุน"นายกอบศักดิ์ กล่าว

ด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม คสช.ออกคำสั่งเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประกอบด้วย การอนุญาตให้สถาบันการศึกษาต่างประเทศมาตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในเขต EEC โดยมีหลักสูตรแผนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งให้ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ สามารถเข้ามาทำงานอยู่ในเขต EEC ตามที่ซูเปอร์บอร์ดอนุญาต โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ตามกฎหมายไทย เพื่อให้ EEC เป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ