พาณิชย์ นำร่องเฝ้าระวัง 4 ธุรกิจ"ขายตรง/ท่องเที่ยว/อี-คอมเมิร์ซ/อาหารเสริม"เป็นพิเศษ หลังพบข้อร้องเรียนเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 19, 2017 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นกำหนด 4 ธุรกิจเป้าหมาย เฝ้าระวังเป็นพิเศษพร้อมตั้งทีมเฉพาะกิจตรวจเข้มเชิงลึก ได้แก่ ธุรกิจขายตรง/การตลาดแบบตรง ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจจำหน่ายอาหารเสริม เนื่องจากธุรกิจทั้ง 4 ประเภทพบข้อร้องเรียนจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นการนำร่องในการเริ่มต้นบูรณาการการทำงานร่วมกันโดยดูจากข้อร้องเรียนของประชาชนเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจขึ้นเพื่อตรวจสอบเชิงลึกธุรกิจดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวงประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อนึ่ง วานนี้ (18 เม.ย.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 12 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กรมการปกครอง กรมสวบสวนคดีพิเศษ กรมบังคับคดี กรมการท่องเที่ยว และกรมที่ดิน เพื่อร่วมกำหนดมาตรการ แนวทาง และวิธีป้องปรามเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

"ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าควรกำหนดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคล/บุคคลที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (Watch List) โดยเน้นธุรกิจ 4 กลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจขึ้นเพื่อตรวจสอบเชิงลึกธุรกิจดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวงประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต"

นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคล/บุคคลที่ต้องติดตามเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (Watch List) ใน 4 ธุรกิจเป้าหมายที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการปกครอง มีฐานข้อมูลดังกล่าวอยู่แล้ว ทำให้สามารถเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลร่วมกันได้ทันทีก่อนออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยง/ป้องกันความเสียหายของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงสามารถใช้ตรวจสอบนิติบุคคลหรือบุคคลต้องสงสัยที่จะกระทำความผิดในธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังเห็นควรให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรับรู้ว่าปัจจุบัน ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการนำเที่ยวภายใต้พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 จากกรมการท่องเที่ยว และรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ การตรวจสอบข้อมูลล่วงหน้าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่า ธุรกิจดังกล่าวมีตัวตนและได้รับการอนุญาตถูกต้อง

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีข้อเสนอให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์เพื่อรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนจากการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวง โดยก่อนส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิด และจะมีการวางระบบการตรวจสอบทั้งนิติบุคคล/บุคคลธรรมดาที่เข้าข่ายการหลอกลวง/ฉ้อโกงประชาชนอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างแหล่งที่พึ่งให้แก่ประชาชนในกรณีที่เกิดเหตุขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนอื่นๆ เช่น กรมสรรพากร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฯลฯ เข้ามาร่วมในการเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ธุรกิจโดยรวมของประเทศมีความน่าเชื่อถือและโปร่งใส รวมทั้งเป็นการอุดช่องโหว่-ปิดช่องว่าง มิให้บริษัทที่ได้จดทะเบียนนำธุรกิจมาหาประโยชน์โดยมิชอบหลอกลวงประชาชนได้อีกต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ