กนย.ขยายเวลาโครงการให้สินเชื่อเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรออกไปอีก 1 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 21, 2017 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กนย.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2560 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการขยายระยะเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมยางพาราทั้งระบบ ในวงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท หลังพบว่าเกษตรกรบางส่วนยังไม่คืนเงินกู้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงมีการขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้มีการขยายสิทธิให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งโครงการนี้ช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้วถึง 5 แสนครัวเรือน แต่ยังมีเกษตรกรที่ยังตกค้างไม่ได้รับสิทธิอีก 11,000 ครัวเรือน จึงได้ขยายออกไปอีก 30 วันเพื่อให้เกษตรที่ตกค้างเข้าร่วมโครงการ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชน รักษาเสถียรภาพราคายางไปจนถึง 31 พ.ค.63

ผู้ว่าฯ กนย. ระบุว่า ที่ประชุมฯ ได้อนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแกผู้ประกอบการยางพารา โดยรัฐบาลจะสนับสนุนดอกเบี้ยในอัตรา 3% ให้กับผู้ประกอบการ โดยรัฐบาลจะไม่ต้องรับซื้อและเก็บสต็อกยาง ซึ่งมติที่ประชุมวันนี้จะมีการเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป

สำหรับสถานการณ์สต็อกยางพาราในประเทศนั้น นายธีธัช กล่าวว่า ขณะนี้มีอยู่ไม่ถึง 2 แสนตัน ขณะที่สต็อกยางในตลาดโลกพบว่ายังมีความต้องการใช้ยางเป็นจำนวนมาก โดยในส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 7-12% โดยเฉพาะประเทศจีนขยายตัวถึง 12.7% ส่งผลให้มีความต้องการยางธรรมชาติเพื่อนับไปผลิตล้อยางเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้มีการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น และส่งออกให้น้อยลง ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด พบว่าไทยมีปริมาณยางถึง 4 ล้านตัน แต่ใช้ในประเทศเพียง 6 แสนล้านตัน จึงตั้งเป้าการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือ 1.2 ล้านตัน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน

ส่วนราคายางล่าสุดเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในช่วงเดือนมกราคม ราคายางเพิ่มสูงขึ้นถึง 100% โดยเห็นได้จากราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 จากปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 30 กว่าบาท/กก.เท่านั้น แต่วันนี้ราคาขึ้นไปอยู่ที่ 70 บาท/กก. ทั้งนี้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าราคายางมีการสวิงตัว ซึ่งสาเหตุมาจากการเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้า ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานยังเป็นบวก จึงขอเตือนคนที่จะลงทุนให้มีการติดตามข้อมูลจากทางภาครัฐอย่างใกล้ชิด

ส่วนนโยบายการลดพื้นที่ปลูกยางพาราก็เป็นไปตามแผนระยะ 7 ปี ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว โดยจะลดพื้นที่ปลูกยาง 4 แสนไร่ต่อปี และหันไปปลูกยางพันธุ์ดีและพืชเศรษฐกิจอื่นแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ