(เพิ่มเติม) คณะทำงานประชารัฐไฟเขียวสินเชื่อ 3.7 หมื่นลบ.หนุน SME พร้อมเตรียมจัดงาน ASEAN SME Shift Up 2017

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 5, 2017 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานประชารัฐชุดส่งเสริม SME Startup และ Social Enterprise (D2) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบการจัดสินเชื่อเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME วงเงินรวม 3.7 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อได้ในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ "ผลการหารือครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยร่วมจะออก 3 มาตรการความช่วยเหลือ SME คนตัวเล็ก/ รายย่อย ได้แก่ (1) มาตรการสินเชื่อ SME คนตัวเล็ก/ รายย่อย (2) Local Economy การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (ขยายCIV ร่วมกับประชารัฐ) และ (3) ตลาดต้องชมรวมพล SME โดยจะมีแพคเกจช่วยเหลือถึงระดับชุมชนทั้งด้านการตลาดและการผลิต นอกเหนือจากการให้เงินทุน"

สำหรับวงเงินสินเชื่อดังกล่าวจะแบ่งเป็น 1.สินเชื่อวงเงิน 5 พันล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระดับฐานรากในแต่ละชุมชนให้เป็น Startup ที่สามารถปรับตัวก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะให้สินเชื่อรายละ 2 แสนบาท ดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา 10 ปี ปลอดเงินต้น 3 ปี 2.สินเชื่อวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่เป็น Springup รายละ 6 แสนบาท ดอกเบี้ย 1% และ 3.สินเชื่อวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว หรือเป็นกลุ่ม Startup รายละ 10 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% แต่หากต้องการสินเชื่อมากกว่า 10 ล้านบาทจะคิดดอกเบี้ย 3%

รมว.อุตสาหกรรม คาดว่า สินเชื่อดังกล่าวจะสามารถช่วยผู้ประกอบการได้ราว 3 หมื่นราย ส่วนวงเงินสินเชื่อที่เหลือจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟื้นฟู SME อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ เช่น การฝึกอบรม การดูแลติดตามผล การออกแบบสินค้า การทำบัญชี การทำตลาดยุคใหม่ เป็นต้น

"มาตรการที่จะออกมาใหม่ทั้ง 3 มาตรการเพื่อช่วยเหลือ SME คนตัวเล็ก/ รายย่อยในครั้งนี้ สอดคล้องกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาล ที่ผู้ลงทะเบียนจะได้รับการช่วยเหลือสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พร้อมกับการช่วยเหลือติดอาวุธความรู้ให้กับประชาชน SME คนตัวเล็ก/ รายย่อย อย่างใกล้ชิด ถัดจากนี้ออกมาเป็นแพคเกจความช่วยเหลือต่อไป โดยเป็นการทำงานร่วมกันในนามสานพลังประชารัฐกลุ่มเอสเอ็มอี (D2) ที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการในลักษณะพี่ช่วยน้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น"

นอกจากนี้ ได้มีการวางกรอบการส่งเสริมและพัฒนา SME ปี 60 โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณามาตรการช่วยเหลือ SME อย่างครบวงจรในทุกมิติ ทั้งในด้านการช่วยเหลือทางการเงิน และการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น การเพิ่มผลิตภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด เป็นต้น โดยมีการติดตามความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 20,000 ล้านบาท และสินเชื่อ SME Transformation Loan 15,000 ล้านบาท

โดยในส่วนของกองทุน 20,000 ล้านบาท ได้ทำหลักเกณฑ์และระบบต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จะเริ่มปล่อยกู้ได้ในช่วงปลาย พ.ค. โดยจะมีกิจกรรมสัญจรเพื่อชี้แจงโครงการในต่างจังหวัดจำนวน 8 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือ SME รายที่มีศักยภาพได้กว่า 5,000 ราย สำหรับสินเชื่อ SME Transformation Loan 15,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือ SME ได้อีก 3,000 ราย

นอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณาการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยขนาดเล็กมาก (Micro) ที่เป็นผู้ประกอบการายเดียวมีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน โดยจะใช้งบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีของ สสว. วงเงิน 2,000 ล้านบาท มาให้กู้ยืมแก่ Micro SME และวิสาหกิจชุมชน วงเงินรวม 500 ล้านบาท รายละไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้รับประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 2,500 ราย นอกจากนี้ ยังมี โครงการยกระดับมาตรฐานสินค้าของ Micro SME และวิสาหกิจชุมชน ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดวงเงิน 100 ล้านบาท คาดว่าจะเข้าถึง Micro SME และวิสาหกิจชุมชนได้ ไม่ต่ำกว่า 10,000 รายด้วย

พร้อมกันนี้ ได้สรุปกิจกรรมที่ดำเนินงานในปี 59 ซึ่งทางคณะทำงานได้ดำเนินกิจกรรมไป 3 เรื่อง คือ

1.กลุ่ม SME Traditional โครงการพี่ช่วยน้อง (Big Brother) อาทิ SME Expo : Spring Up Thailand, โครงการ SME Marketplace ไทยช่วยไทยบายประชารัฐ, โครงการ Big Brother 50, โครงการ SME Matching day และ SME Think Big และโครงการสินเชื่อประชารัฐวงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งมี SME ได้รับคำปรึกษาถึง 50,000 ราย มี SMEs เข้าร่วม 500 ราย เกิดมูลค่าซื้อขายทันทีประมาณ 60 ล้านบาท จับคู่ธุรกิจ 156 บริษัท และเพิ่มรายได้ 100 ล้านบาท ให้กับ SME 57 ราย

2.กลุ่ม Start Up / Innovation Driven Enterprise(IDE) การจัดทำโครงการ STARTUP RUNWAY และ Ecosystem & Platform for Startup

3.Social Enterprise (SE) 1) ดำเนินการจัดตั้งบริษัทเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม (SE for SEs) 2) โครงการ SE FAST TRACK Pilot Projects สนับสนุน SE 2.0 จำนวน 4 ราย ด้าน Education ได้แก่ Learn Education, ด้าน Agriculture ได้แก่ Thai Biomass, Jasberry, ด้าน Aging Society ได้แก่ Anantarak Health Training

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ กล่าวว่า จะมีแนวทางการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือของ SME ในภูมิภาคอาเซียน เป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายในการยกระดับ SME ซึ่งคณะทำงานสานพลังประชารัฐชุดนี้ มีแผนการจัดงาน ASEAN SME Shift Up 2017 : CONNECTION ขึ้นในปลายเดือนสิงหาคม เพื่อยกระดับความรู้ ความสามารถ และสร้างโอกาส SME ในภูมิภาคอาเซียนและสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งและความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนเพื่อสู้กับการแข่งขันในตลาดโลก กลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ในการจัดงานครั้งนี้ประมาณ 20 ล้านคน

"ภาครัฐและภาคเอกชน เตรียมร่วมกันจัด SME Expo ระดับอาเซียนในช่วงปลายปีนี้ โดยตั้งเป้าให้การจัดงานดังกล่าวเป็นที่รู้จักของภูมิภาค ซึ่งจะเน้นการทำตลาดในกลุ่ม CLMVT" นายสุพันธุ์ กล่าว

โดยในงานจะมี 4 กิจกรรม คือ 1.การจัดประชุม (Symposium) เป็นการรวมตัววิทยากร/ผู้ชำนาญการจากทั่วโลกเพื่อแชร์ประสบการณ์ จัด Broadcast Live งานสัมมนาไปตามภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย ร่วมมือกับสื่อชั้นนำในประเทศโดยผ่านสื่อช่องทางต่างๆ 2.การตลาดยุคใหม่ (Digital Marketing) เป็นการรวมตัวของผู้ชำนาญการในด้าน Digital Marketing, Digital Commerce, e-Commerce เวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูล รวมถึงการค้าขายผ่านช่องทางต่างๆระหว่างประเทศ 3.งานแสดงสินค้า (Exhibition) จัดแสดงสินค้าที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ รวมถึงเทรนด์ใหม่ล่าสุดโดยเน้น กลุ่มอุตสาหกรรมด้าน CREATIVE อาทิ แฟชั่น สปา สินค้าตกแต่ง 4.กิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ CLMV (CLMV Knowledge Exchange)

สำหรับผลที่จะได้รับ คือ เกิดการเชื่อมโยง SME ในภูมิภาคอาเซียน โดยใช้กลุ่ม CLMV ขับเคลื่อนและผลักดันสู่เวทีโลก, เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาและต่อยอดไปเป็น Smart SME/ Smart Startup, ขับเคลื่อน SME ด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างมูลค่าการค้าการลงทุน และเมื่อการต่อยอดและพัฒนามีประสิทธิภาพ จะก่อให้เกิดการลงทุนได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ