คมนาคมเผยรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังโอนหนี้ไม่จบหลังกทม.รอรัฐบาลอุดหนุน ชะลอส่วนต่อขยาย

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 6, 2017 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้หารือถึงนโยบายในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในประเด็นปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการกำหนดนโยบาย รวมถึงกรณีที่ ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังไม่จ่ายค่าเช่ารางช่วง 1 สถานีจากแบริ่ง-สำโรง เพื่อเปิดการเดินรถไปก่อนระหว่างการเจรจาเรื่องโอนหนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งมีคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การมอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กม. และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการระยะทาง 13 กม.จำนวน 3 ชุด พิจารณา ได้แก่ คณะกรรมการประเมินมูลค่าหนี้สิน และทรัพย์สิน และพิจารณากำหนดขั้นตอนการโอนหนี้สินและทรัพย์สินระหว่างกัน,คณะกรรมการประสานงานด้านเทคนิคและการเดินรถ, คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ

นอกจากนี้ ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาระบบขนส่งสำหรับการเดินทางที่เชื่อมต่อกับสถานที่สำคัญ ตามเส้นทางของโครงการฯ ส่วนต่อขยาย ให้มีความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และมีการกระจายผู้โดยสารในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการเชื่อมต่อศูนย์กลางเมืองกับแหล่งชุมชนชานเมือง

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้การโอนหนี้สายสีเขียวให้กทม. ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งทางกทม.อยู่ระหว่างเสนอให้รัฐบาลอุดหนุนการเงิน โดยมูลค่าทั้งสายสีเขียวเหนือและใต้ รวมกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในส่วนของกระทรวงคมนาคม จึงต้องพิจารณาในการดำเนินโครงการ สายสีเขียวเข้ม ช่วงสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 9.2 กม. กรอบวงเงิน 7,994 ล้านบาท และสายสีเขียวเข้ม ช่วงคูคต – ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กม. กรอบวงเงิน 6,337 ล้านบาท ซึ่งเป็นเส้นทางส่วนต่อขยายออกไปอีกให้รอบคอบ เนื่องจากหากมีการเสนอขออนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้ว แต่การโอนหนี้ช่วงกลางยังไม่เรียบร้อย อาจจะมีปัญหาหรือไม่

นอกจากรอการพิจารณาโอนหนี้ยุติแล้ว ในการนำเสนอขออนุมัติโครงการรถไฟฟ้านั้นหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องมีรายงานการศึกษา การร่วมทุนเอกชน (PPP) เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ด้วย จึงได้ให้ รฟม.กลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่อง รูปแบบ PPP การเดินรถ รวมถึงพิจารณาระบบการเชื่อมต่อจากปลายสายทางลำลูกกาเข้าสู่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ตั้งอยู่บริเวณคลองหก เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางด้วย โดยอาจจะเป็นระบบโมโนเรล เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ