นายกฯ ถกงบปี 61 เห็นชอบกรอบวงเงินงบฯรายจ่ายเพิ่มเติม ดึงงบฯ ค้างท่อใช้บรรเทาความเดือดร้อนปชช.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 8, 2017 17:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์แผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ครั้งที่ 1/2560 ว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบหลักการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เพิ่มเติม วงเงิน 190,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการจัดงบประมาณในลักษณะดังกล่าวของรัฐบาลเป็นครั้งแรกที่มาจากการรับฟังความเห็นทั้งในส่วนของคณะกรรมการ ส่วนราชการ และประชาชน

หลังจากนี้ทางคณะกรรมการทั้ง 6 ภาคจะหารือ กับสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินโครงการต่างๆ เป็นไปตามไปแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้นต้องเห็นผลสัมฤทธิ์ภายในหนึ่งปี ส่วนระยะกลางต้องเห็นปลภายใน 2 ปี และระยะยาว คือ 3 ปีขึ้นไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การใช้งบประมาณส่วนนี้จะมีคณะกรรมการติดตามการดำเนินโครงการในทุกพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตรวจสอบเรื่องการทุจริต

พร้อมกันนี้ในงบประมาณปี 61 จะมีการปรับลดงานฟังก์ชั่น และจะไปให้ความสำคัญกับงบฯบูรณาการ ทั้งในระดับกระทรวง กลุ่มจังหวัด และระดับภูมิภาคทั้ง 6 ภูมิภาค

ส่วนงบฯที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในหลายกระทรวง หรืองบฯค้างท่อ จะนำมารวบรวมและปรับใช้ในงบฯ เพิ่มเติมปี 61 และอีกส่วนไว้สำหรับการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หากเกิดความเดือดร้อนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า มีความกังวลที่ฤดูฝนในปีนี้ค่อนข้างมาเร็วกว่าปกติ จึงได้กำชับให้การบริหารจัดการน้ำ ทั้งในส่วนของน้ำประปา น้ำบาดาล ที่กักเก็บน้ำ พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดูแลและเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้ทุกคนร่วมเป็นกำลังใจและร่วมกันขับเคลื่อนให้งานต่างๆ สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ ขอให้มีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน เพราะทุกโครงการ แม้รัฐบาลจะเป็นผู้ริเริ่ม และมีหน่วยงานราชการเป็นผู้ปฏิบัติ แต่จำเป็นที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม

ส่วนกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำที่มีผู้ออกมาร้องว่าเป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายผิดกฎหมายนั้น เพราะการลงนามซื้อเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐน่าจะเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง การลงทุนของประเทศ ตามมาตรา 178 ที่กำหนดว่า ต้องเสนอให้รัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบก่อนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองไม่ขอพูดถึงเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำอีก ซึ่งหากจะมีการอ้างเรื่องข้อกฎหมายก็ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ

ส่วนผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ว่าใครจะได้รับตำแหน่งประเทศไทยก็เป็นมิตรกับฝรั่งเศส ซึ่งไทยต้อง กำหนดบทบาทในการเป็นมิตรกับทุกประเทศทั่วโลก โดยต้องวางตัวเองอยู่ในจุดที่เหมาะสมของตนเอง และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ