นายกฯหวังดันพื้นที่ EEC เชื่อมต่อนโยบายจีน"One Belt One Road"หนุนการค้าไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 13, 2017 10:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านสถานีโทรทัศน์เมื่อคืนนี้ว่า ภาครัฐบาลหวังให้โครงการพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของอาเซียน เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมอนาคต เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างนวัตกรรม เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่งและกระจายสินค้า และการบินของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ไทยเป็น Gateway สำคัญหรือเป็นประตูเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่มีศักยภาพการเติบโตสูง

นอกจากนี้ พื้นที่ EEC จะตอบโจทย์อีกยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสอดรับด้านการผลิต การขนส่ง และการเชื่อมต่อกับนโยบาย “One Belt One Road" ของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีนด้วย จึงทำให้ไทยต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน ที่เชื่อมโยงกับจีนและประเทศอื่น ๆ และให้ความสำคัญกับการทำให้พื้นที่ EEC ให้เกิดการดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งจีนและประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

แนวคิดการมี “One Belt One Road" นี้เป็นนโยบายของจีน ในการสร้างความเชื่อมโยงกับอีก 64 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เอเชีย ไปจนถึงยุโรปและแอฟริกา ซึ่งครอบคลุมจำนวนประชากรราว 4,500 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่บ่งบอกขนาดเศรษฐกิจรวมกันแล้วกว่า 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 และ 30 ของโลก

โดยจีนพยายามที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางบก หรือที่เรียกว่าเส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจ จำนวน 3 เส้นทาง และทางทะเล หรือเส้นทางสายไหมทางทะเล ในศตวรรษที่ 21 จำนวน 2 เส้นทาง ซึ่งจะเชื่อมระหว่างอาเซียน เอเชีย แอฟริกาและยุโรป โดยมีการเชื่อมโยงความร่วมมือในหลายด้าน อาทิ ความร่วมมือด้านนโยบาย การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และความร่วมมือด้านการเงิน ซึ่งหากไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “One Belt One Road" นี้ หมายถึงการเชื่อมต่อกับตลาดขนาดใหญ่ทั่วโลก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งของ “One Belt One Road" นี้ สอดคล้องกับนโยบายการค้าของไทยที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity) เพื่อให้ไทย เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรัฐบาลได้มุ่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงของไทยกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับนโยบายดังกล่าวเช่น โครงการประเทศไทย 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับจีนที่มี แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ซึ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และสินค้านวัตกรรม ซึ่งจะทำให้ร่วมกันเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ได้ และโครงการ EEC เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาใช้ EEC ในการเป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าไปสู่กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมถึงประเทศอื่น ๆ บนเส้นทางสายไหมนี้อีกด้วย

ขณะเดียวกันก็ได้มีการหารือกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนของไทย และอาเซียน กับสหรัฐอเมริกาอีกด้วย และได้มีการหารือกับรัสเซีย สหภาพยุโรป (อียู) และประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญ

สำหรับเรื่องเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่เรียกว่าไมโครเอสเอ็มอี (mSME) ในขณะนี้ สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ รัฐบาลได้เข้าไปถึงปัญหา และได้สนับสนุนให้มีการเข้าถึงกองทุน มีการฟื้นฟู มีการให้ความรู้ เทคโนโลยี การพัฒนาตลาด การอำนวยความสะดวก รวมถึงกิจการใหม่ ๆ สตาร์ทอัพก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็น่าที่จะสามารถเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้มากขึ้นในอนาคต ขณะที่ขอให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในลักษณะ “ประชารัฐ" ได้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประเทศชาติ ส่วนผลกำไรธุรกิจของตนเองในวันนี้ อาจจะต้องเผื่อแผ่แบ่งปัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งไปด้วยกัน เศรษฐกิจของประเทศถ้าร่วมมือกัน ฐานก็จะยิ่งกว้างขึ้น ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้น ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น บริษัทก็มีกำไรมากขึ้นเอง โดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อน

ขณะที่การลงทุนของไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีผู้ขอรับส่งเสริมการลงทุน ผ่านสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่ามียอดคำขอรวม 5,431 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 ล้านล้านบาท ลงทุนไปแล้วกว่า 1.62 ล้านล้านบาท และยังคงมีการขอเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และในไตรมาสแรกปีนี้ ขอลงทุนไปกว่า 60 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็น่าจะไม่มากไม่น้อยไปกว่าที่ประมาณการไว้ทั้งปี ในโอกาสต่อไปไตรมาสต่อไป อีกทั้งประเทศยังมีโครงการ EEC นโยบาย “One Belt One Road" และก็มีแผนงาน IMT-GT อีกด้วยเป็นความเชื่อมโยงระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียซึ่งทั้งหมดเป็นโอกาสของประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ