ธปท.คาดปีนี้สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ขยายตัว 4-6% หลัง Q1/60 โตราว 2.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 15, 2017 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้จะขยายตัว 4-6% จากในไตรมาส 1/60 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวที่ 2.8% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังไม่เข้มแข็งนักและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งภาคธุรกิจมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น

อย่างไรก็ดี ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SME ขยายตัวเพิ่มขึ้น แม้จะยังกระจุกตัวในธุรกิจบางประเภท ทั้งนี้ในภาคธุรกิจการเงินมีการคืนหนี้ธนาคารพาณิชย์ด้วยการออกหุ้นกู้ทดแทนเพื่อควบคุมต้นทุนทางการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยตลาดพันธบัตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สินเชื่อธุรกิจ (สัดส่วน 67.4% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 2.0% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน โดยขยายตัวทั้งในสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อ SME สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3.9% หลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 โดยสินเชื่อขยายตัวจากบางภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจพลังงาน การขนส่ง และที่พักแรม สอดคล้องกับภาคส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น สินเชื่อ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ 2.2% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนโดยเฉพาะในธุรกิจการผลิตยางและพลาสติกและการขายส่งวัตถุดิบทางการเกษตร สอดคล้องกับราคายางและผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับดีขึ้น

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วน 32.6% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 4.6% โดยชะลอตัวในพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดการซื้อรถยนต์ที่ปรับดีขึ้นหลังจากสิ้นสุดเงื่อนไขระยะเวลา 5 ปี ในการถือครองรถยนต์คันแรก

น.ส.ดารณี กล่าวว่า สำหรับคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยลงจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 2.83% มาอยู่ที่ 2.94% โดยเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และ SME ในบางอุตสาหกรรม และสินเชื่อธุรกิจ SME ในภาคพาณิชย์ ขณะที่คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคด้อยลงจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) ต่อสินเชื่อรวมลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.61% จากไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็น 5.45 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกัน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 161.8% จากสิ้นปี 2559 ที่ 159.6%

ในไตรมาส 1 ปี 2560 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 51.1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวอยู่ที่ 2.6% ซึ่งเป็นผลจากการบริหารด้านหนี้สินเป็นสำคัญ ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีค่าใช้จ่ายจากการกันสำรองเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสิ้น 2,310.4 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อย จากการไถ่ถอนตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (Tier 2) ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) อยู่ที่ 17.8% และ 15.1% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ