"สมคิด" เปิดเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-จีน เชื่อมโยง SME หนุนลงทุน EEC ดันไทยเป็นศูนย์กลางกลุ่ม CLMV

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 18, 2017 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-จีน Thailand Cross Border Trade & Investment Conference ซึ่งจัดโดยธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่า การจัดงานวันนี้เป็นผลสำเร็จจากการที่ได้มีโอกาสไปเยือนกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปลายปี 2559 โดยได้เชิญชวนให้ธนาคารแห่งประเทศจีนเข้ามาจัดงานในรูปแบบของการเจรจาจับคู่ธุรกิจครั้งใหญ่ในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทจากจีนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาด้านนวัตกรรม และนำพาประเทศไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

นายสมคิด กล่าวว่า จากนโยบาย One Belt OneRoad ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะส่งให้เกิดการช่วยเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่างๆ ส่งผลดีต่อนักธุรกิจทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และช่วยสร้างความสัมพันธ์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชน และนโยบายนี้มีความสอดคล้องกับประเทศไทยที่อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยหวังว่าจีนจะช่วยสนับสนุนความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ให้เติบโตได้ในระยะยาว

"ที่ผ่านมาการร่วมมือกับจีนอาจเป็นแค่แต่ละโครงการเท่านั้น แต่หลังจากนี้เราอยากให้จีนเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ในระยะยาว โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างความเชื่อมโยงทางคมนาคมขนส่ง ด้านรถไฟ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามเป้าหมายให้ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ภาคธุรกิจที่จะเป็นตัวเชื่อมใหญ่ โดยให้ภาคธุรกิจต้องเป็นหุ้นส่วนร่วมกัน และสร้างไปคู่ขนานกับนโยบาย One Belt One Road" นายสมคิด กล่าว

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศจีนซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ และมีลูกค้าทั่วโลก ไม่เฉพาะจีนเท่านั้น การเดินทางมาครั้งนี้จึงถือว่ามีความสำคัญที่จะช่วยนำนักธุรกิจที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมาจับคู่เจรจาการค้าทั่วกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งยอมรับว่า หากเอสเอ็มอีของไทยได้พบกับคู่ค้าที่มีศักยภาพของจีน จะทำให้เกิดธุรกิจที่ดีต่อเศรษฐกิจในอนาคตได้

"ธนาคารได้นำลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจจากประเทศจีนเดินทางมาเข้าร่วมเจรจาจับคู่ธุรกิจกับนักธุรกิจไทย ซึ่งในวันนี้มีผู้ร่วมเจรจาจับคู่รวมกว่า 1,000 คน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี เชื่อมโยงให้ภาคธุรกิจทั้งสองประเทศให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเราได้เชิญชวนให้นักธุรกิจจีนพิจารณาการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในอีอีซี" นายสมคิด กล่าว

นอกจากนี้ อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจีนช่วยสนับสนุนประเทศไทย โดยเฉพาะการที่ไทยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของกลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งยอมรับว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน จึงต้องการแรงสนับสนุนจากจีนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายให้ได้ ดังนั้น ในโอกาสต่อไปจึงอยากให้จีนจัดงานจับคู่ทางการค้าอีก โดยไทยจะเชิญลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนามเข้ามาร่วมงานด้วย

นายสมคิด กล่าวว่า ในปัจจุบันภาคธุรกิจของไทยยังมีความตื่นตัวกับกระแสไทยแลนด์ 4.0 น้อยมาก ดังนั้นจึงจะหารือกับทางการจีนว่าจะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจไทยตื่นตัวมากขึ้น เนื่องจากในอนาคตโลกธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้น หากภาคธุรกิจของไทยไม่พัฒนาสู่ไทยแลนด์ 4.0 อาจทำให้เกิดปัญหาใหญ่ได้ และจะไม่สามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นทั่วโลกได้ด้วย ซึ่งในปีหน้าจะมีการจัดงานการประชุมเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย-จีน อีกครั้ง โดยเน้นการในธุรกิจด้านดิจิตอลและเทคโนโลยีเป็นหลัก

ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ BOI กล่าวว่า นอกจากการมาจับคู่ธุรกิจและดูลู่ทางการลงทุนในไทยแล้ว BOI ยังจะนำคณะของธนาคารแห่งประเทศจีนไปเยี่ยมชมพื้นที่ EEC และรับฟังนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งนักธุรกิจจีนส่วนใหญ่ให้ความสนใจต่อแผนการเตรียมพื้นที่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครโอซาก้า (บีโอไอโอซาก้า) ยังได้นำคณะนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวน 100 ราย จากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ พลังงานแสงอาทิตย์และภาคขนส่ง เข้าร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายการลงทุนและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ โดยมีสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย สมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย สมาพันธ์สมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนและกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพเข้าร่วม

โดยจะได้รับฟังรายละเอียดของนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไข และ พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยด้วย

"คณะนักลงทุนจากโอซาก้าได้ลงพื้นที่สำรวจโอกาสการลงทุนในภาคตะวันออก โดยให้ความสนใจกับอีอีซีเป็นพิเศษ เพราะมีความโดดเด่นด้านภูมิศาสตร์และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพจากการสนับสนุนของรัฐบาล" นางหิรัญญา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ