SCB EIC ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐานปีนี้ลง หลังพ.ค.ยังลดต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 1, 2017 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า SCB EIC ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 60 ลงมาที่ 1.0%YOY จากเดิม 1.4%YOY จากราคาอาหารสดที่ชะลอลงกว่าที่คาด รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าที่คาดมีผลให้ราคาสินค้านำเข้ามีราคาถูกลง

อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังไปที่ระดับ 55-56 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามผลการประชุมร่วมของกลุ่ม OPEC และ non-OPEC เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 60 ที่บรรลุข้อตกลงในการยื้อเวลาการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวม 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 9 เดือน ประกอบกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง และมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ขึ้นตามหลังราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ SCB EIC ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 60 ลงมาที่ 0.6%YOY จากเดิม 0.7%YOY เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ตามสภาวะการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานที่ยังซบเซา ประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่ากำลังซื้อครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปีจะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ แถลงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ค. 60 ลดลงไปที่ -0.04%YOY จาก 0.38%YOY ในเดือนก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงต่อเนื่องเช่นกันมาอยู่ที่ 0.46%YOY จาก 0.50%YOY

โดยที่เงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากราคาอาหารสดเป็นหลัก โดยเฉพาะราคาผักสดลดลง 27%YOY ราคาผลไม้ลดลง 3%YOY ซึ่งเป็นผลของฐานสูงตามภาวะภัยแล้งในปีก่อน นอกจากนี้ การขยายตัวของราคาน้ำมันเดือนพฤษภาคมเริ่มชะลอลง โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขยายตัว 8%YOY จาก 25%YOY ในเดือนก่อน รวมถึงราคาก๊าซ LPG ซึ่งเป็นต้นทุนก๊าซหุงต้มและขนส่งลดลง 47 สตางค์ต่อกิโลกรัมจากเดือนก่อน

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไปยังไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมากนัก เช่น ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น สะท้อนว่าอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้า ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานในบางอุตสาหกรรมที่ชะลอลงทำให้กำลังซื้อบางส่วนยังอ่อนแอ จากราคาอาหารสดที่ชะลอลงกว่าที่คาด รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าที่คาดมีผลให้ราคาสินค้านำเข้ามีราคาถูกลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ