(เพิ่มเติม) JETRO เผยนลท.ญี่ปุ่นส่วนใหญ่เริ่มขยายธุรกิจไป EEC แล้ว ภาพรวมพอใจสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 2, 2017 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนภายในเขต EEC พบว่า มี 24 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังเขต EEC เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับกำลังพิจารณาจัดตั้งสำนักงานภายในเขต EEC เนื่องจากมองว่าเป็นการวางตำแหน่งที่สำคัญเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาคีทีกว้างขึ้น

นอกจากนี้ มีจำนวน 10 บริษัทตอบว่าในอนาคตมีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มเติม และคาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนจำนวนหนึ่งในเขต EEC จากบริษัทญี่ปุ่นที่มาเปิดกิจการในไทยอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เหลือยังไม่มีแผนการลงทุน

"ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นคณะกรรมการบริหาร JCC จำนวน 24 บริษัทจากทั้งหมด 48 บริษัท ขยายการลงทุนในเขต EEC แล้ว ได้แก่ ยานยนต์ อิเลคทรอนิกส์ เคมี กระดาษ อาหาร ซึ่ง 10 ใน 24 บริษัทมีแผนขยายการลงทุน เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของโครงการ"นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานเจโทร กรุงเทพฯ ระบุ

โดยปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยราว 5,000 บริษัท และเป็นสมาชิกของ JETRO 1,700 ราย

สำหรับมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในเขต EEC ที่รัฐบาลไทยนำมาใช้นั้นพบว่า 22 บริษัทตอบว่ามีประสิทธิภาพ โดยส่วนใหญ่บอกว่าเป็นเรื่องการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี และการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปีหลังจากลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอีกส่วนหนึ่งตอบว่า มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่กำลังวางแผนจะดำเนินการในอนาคตในเขต EEC เช่น การเตรียมท่าเรือแหลมฉบังและสนามบินอู่ตะเภา, การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ พร้อมเห็นว่าการผ่อนปรนขั้นตอนการขอใบอนุญาตและการเพิ่มความรวดเร็วในขั้นตอนของหน่วยงานรัฐ ตลอดจนการอนุญาตเรื่องการชำระเงินสกุลเงินต่างประเทศ ก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ซึ่งในภาพรวมมีความเห็นในเชิงตอบรับว่าส่งผลดีพอสมควร เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนของประเทศอื่น

"มาตรการส่งเสริมการลงทุนของไทยที่ออกมา เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วมีความน่าสนใจมาก เช่น มาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่ลดหย่อนภาษีนิติบุคคลสูงสุด 15 ปี, มาตรการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนหนึ่งของความคาดหวังของนักลงทุนญี่ปุ่นที่สำรวจพบ คือ ความเชื่อมั่นในเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุน, ความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน, การทบทวนแผน PPP, การสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพสูง" ประธาน JETRO กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการประเมินเชิงตอบรับต่อ EEC แต่นักลงทุนญี่ปุ่นได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย เพื่อให้รับประกันนโยบายในระยะยาวต่อนักลงทุน, มูลค่าที่คาดหวังให้ภาคเอกชนลงทุนมีอยู่สูง, รัฐบาลควรพัฒนาสาธารณูปโภคหลักด้วยเงินลงทุนของรัฐบาลไทย, การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพสูง, การจัดเตรียมสภาพแวดล้อมเพื่อนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้, การปรับปรุงด้านโลจิสติกส์และจัดเตรียมสาธารณูปโภคอื่นๆ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายและประเด็นปัญหาของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซึ่งเคยเกิดมาแล้วจากความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างกรมสรรพากรและ BOI เรื่องการจัดการยกยอดผลขาดทุนของภาษีเงินได้นิติบุคคล

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าประเด็นที่นักลงทุนญี่ปุ่นในไทยให้ความสำคัญในการตัดสินใจเข้ามาลงทุน คือ 1.เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 2.ขั้นตอนศุลกากร 3.ปัญหาจราจร และ 4.ความปลอดภัย

ประธาน JETRO กล่าวว่า JETRO ยังเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง และอยากเห็นความชัดเจนของภาพรวมโครงการ EEC ซึ่งตนเองคงไม่สามารถตอบได้ว่าบริษัทญี่ปุ่นจะตัดสินใจอย่างไร เพราะการตัดสินใจขยายการลงทุนหรือไม่ขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ โดยในระหว่างวันที่ 4-8 มิ.ย.นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะนำคณะเดินทางไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเบื้องต้นมีนักลงทุนญี่ปุ่นตอบรับให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมฟังสัมมนาแล้วราว 1 พันราย

ทั้งนี้ JETRO ได้สำรวจความคิดเห็นจากบริษัทที่อยู่ในหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) รวม 48 บริษัท ในช่วงเวลาระหว่าง 27 เม.ย.-3 พ.ค.60 โดยมีจำนวนบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม 28 บริษัท เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต 18 บริษัท และบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิต 10 บริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ