BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 33.85-34.25 จับตาปัจจัยใน-นอกประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 5, 2017 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.85-34.25 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 34.16 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยดอลลาร์ฟื้นตัวหลังมีแรงเทขายทำกำไรเงินบาทซึ่งแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 22 เดือน ท่ามกลางความกังวลของนักลงทุนก่อนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเรื่องการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 4.9 พันล้านบาท แต่ขายพันธบัตรรวมทุกช่วงอายุ 1.9 พันล้านบาท โดยเป็นการขายพันธบัตรช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี ราว 7.1 พันล้านบาท

ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ BAY กล่าวว่า มีแรงเทขายดอลลาร์ในช่วงเริ่มต้นสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง หลังตลาดผิดหวังกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร แต่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดรอบ 16 ปี ที่ 4.3% และสัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงกว่า 90% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 13-14 มิถุนายน แต่ความน่าจะเป็นสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายนและธันวาคมปรับลดลง นอกจากนี้ สัญญาณจากการประชุมธนาคารกลางยุโรปและผลการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรในวันที่ 8 มิถุนายนจะเป็นปัจจัยชี้นำตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเช่นกัน

สำหรับปัจจัยในประเทศ ผู้ว่าการธปท.ยืนยันยังคงมีความกังวลกับเงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าสกุลอื่นๆ และพร้อมเข้าไปดูแลกรณีเงินบาทผันผวนเกินไป และธปท.มีเครื่องมือในการดูแลการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น อย่างไรก็ดี ทางการระบุว่า ค่าเงินบาทได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก เช่น การอ่อนลงของค่าเงินดอลลาร์จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายของเฟด และประเด็นการเมืองสหรัฐ ทั้งนี้ ธปท.เน้นย้ำให้ภาคธุรกิจป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะตลาดการเงินโลกจะผันผวนสูงเป็นระยะ โดยตลาดจะให้ความสนใจกับแถลงการณ์เรื่องการปฏิรูปกฎเกณฑ์การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งคาดว่าปัจจัยนี้ไม่น่าจะกดดันค่าเงินบาทเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการลดอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนเงินที่ธปท.เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้

สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของไทยพลิกติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ที่ -0.04% โดยเป็นผลจากฐานที่สูงของปีก่อนหน้าซึ่งเผชิญภาวะภัยแล้ง แต่ภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัวสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ