คลัง จัด FPO Forum ที่ร้อยเอ็ด มุ่งขยายบทบาทสศค. สร้างความเข้าใจขับเคลื่อนศก.ชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 9, 2017 17:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดการสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) ที่ จ.ร้อยเอ็ด โดยการสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายบทบาทของ สศค.สู่ภูมิภาค และสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทของ สศค. รวมทั้งนำเสนอนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจต่างๆ ที่ สศค. ได้ริเริ่มในช่วงที่ผ่านมา เช่น มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) มาตรการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) และโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น

นางวิภารัตน์ ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กล่าวว่า ภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอดีตมีการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งภาคการผลิต ภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบันมีการพึ่งพาภาคการบริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านการขนส่ง บริการอสังหาริมทรัพย์และบริการด้านธุรกิจ แต่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคเกษตรกรรมลดลงเมื่อเทียบกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในอดีต นอกจากนี้ เศรษฐกิจปัจจุบันมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัว 3.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนอย่างชัดเจน ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ของประเทศ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน

ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น ขณะที่แนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ด้านนายสมเกียรติ ชัยคณารักษ์กูล ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า จังหวัดร้อยเอ็ดมีจุดเด่นในฐานะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่เชื่อมโยงจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีการวางผังเมืองที่ดี ส่งผลให้จังหวัดมีศักยภาพ สามารถเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตาม จังหวัดร้อยเอ็ดยังมีปัญหาที่สำคัญ 2 ประการคือ 1) ขาดระบบการขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ และ 2) ขาดสินค้าเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสำคัญ

สำหรับประเด็นการลงทุน มีโครงการลงทุนที่สำคัญระดับจังหวัดและภูมิภาค ได้แก่ การขยายอาคารที่พักผู้โดยสารและ ทางวิ่งเครื่องบินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน การสร้างสถานีขนส่งแห่งที่ 2 เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนจากสถานีรถไฟร้อยเอ็ดไปยังสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งรองรับการเดินทางโดยรถไฟทางคู่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และการเพิ่มระบบขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการเดินทางภายในจังหวัด

ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในชุมชนผ่านการสร้างตราสินค้าชุมชน และการปรับปรุงกระบวนการผลิต การแปรรูป และการบรรจุภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค การเพิ่มนวัตกรรมโดยการนำเทคโนโลยีและงานวิจัยมาพัฒนาสินค้าให้มีเอกลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และการส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์และเครือข่ายองค์กรเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายนรชิต จิรสัทธรรม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงขยายตัวได้ดี สะท้อนจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Gross Provincial Product: GPP) ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเศรษฐกิจที่หลากหลาย มีทั้งจังหวัดที่เป็นเมืองอุตสาหกรรม เมืองการค้าและบริการ และเมืองเกษตรกรรม และมีการขยายตัวของการค้าปลีกสมัยใหม่ ในด้านปัจจัยการผลิต พบว่าการลงทุนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่แรงงานกลับมีแนวโน้มลดลง

นอกจากนี้ จากการศึกษางานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ของภาคเกษตรล่าสุด พบว่า การถ่ายโอนความเสี่ยงในการปลูกพืชหลังนาของเกษตรกรผ่านการให้คำแนะนำและความช่วยเหลือเกษตรกรในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต การให้ความรู้ในการปลูกพืชหลังนา โดยมีหลักประกันรายได้จากการขายผลผลิต ได้มีส่วนช่วยให้เกษตรกรมีทัศนคติที่ดีต่อการปลูกพืชหลังนา และช่วยลดความหวาดกลัวการปลูกพืชหลังนาของเกษตรกรลงได้ ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในภาพรวมยังคงประสบปัญหาจากความเชื่อมั่นภาคการผลิตที่ยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น และมูลค่าการส่งออกชายแดนไปยังประเทศลาวและประเทศกัมพูชาที่ลดลง

สำหรับการเสวนาในช่วงบ่าย เป็นการกล่าวถึงบทบาทของกระทรวงการคลังในด้านการเงินฐานราก โดยกระทรวงการคลังได้จัดทำแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 - 2564 ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางในการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานรากและกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนและบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี ประกาศเจตนารมณ์ในการขจัดหนี้นอกระบบให้เป็นศูนย์ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ใน 5 มิติด้วยกัน ได้แก่ 1. การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบ 2. เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ 3. ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ 4. เพิ่มศักยภาพของลูกหนี้นอกระบบ และ 5. สนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรการเงินชุมชนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบเพิ่มขึ้น โดยการอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อรายย่อยประเภทใหม่ ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ซึ่งปัจจุบันจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขอประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มากที่สุดถึง 19 ราย นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงการสร้างความรู้และวินัยทางการเงินเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อปัญหาหนี้สินของประชาชนด้วย

ด้านนายสุพล กำสมุทร ปราชญ์ชุมชน จังหวัดร้อยเอ็ด ได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนโดยอาศัยหลักการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายด้วยการดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ส่งเสริมให้ชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ส่งเสริมการทำปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตน้ำดื่มชุมชุนเพื่อบริโภคในชุนชนและจำหน่าย โดยมีร้านค้าชุมชนเป็นช่องทางการจำหน่ายผลผลิต นอกจากนี้ ยังมีโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านโรงเรียนชาวนา ซึ่งนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง จนกลายเป็นความผาสุกที่ยั่งยืน

นายจรรยงค์ สุวรรณศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้มีบทบาทในการกำหนดมาตรการการให้บริการทางการเงินภาคชนบท และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคประเทศไทย 4.0 และสร้างความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกร โดยมุ่งมั่นเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้นผ่านโครงการสนับสนุนของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในภาคเกษตรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การส่งเสริมผู้ประกอบการภาคการเกษตร (SMAEs) โดยสนับสนุนทั้งสินเชื่อแก่ SME เกษตร และการให้ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน (Financial Literacy) ตามหลัก 3 รู้ คือ รู้ชีวิต รู้การออม และรู้ก่อนกู้ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ