(เพิ่มเติม) สคร.คาดเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ร่วมทุนฯเข้าครม. ส.ค.-ก.ย.นี้ หลังใช้ผลสำเร็จ PPP Fast Track เป็นต้นแบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 14, 2017 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคจ.) ระบุว่าจะได้นำบทเรียนต่างๆ รวมถึงกลไกสำคัญของโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) มาใช้ในการปรับปรุง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งปัจจุบัน รมว.คลัง ได้เห็นชอบหลักการไปแล้ว โดยมีหลักการสำคัญในการส่งเสริมโครงการร่วมลงทุนให้มากขึ้น มีขั้นตอนที่กระชับชัดเจน แต่ยังคงความโปร่งใส เปิดเผย และตรวจสอบได้ รวมทั้งยึดหลักวินัยการเงินการคลังเช่นเดิม

ทั้งนี้ คาดว่าจะนำเสนอร่าง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ ฉบับปรับปรุงเสนอต่อ รมว.คลัง ให้พิจารณาได้ภายในเดือน ก.ค.60 และน่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ราวเดือน ส.ค.-ก.ย.60

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร.ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) กล่าวว่า ความสำเร็จของนโยบายรัฐบาลในการเร่งรัดโครงการภายใต้ PPP Fast Track โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทำให้สามารถผลักดันโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย มูลค่าโครงการ 1.9 แสนล้านบาทได้สำเร็จภายใน 9 เดือน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มูลค่าโครงการ 83,877 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่าโครงการ 56,691 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่าโครงการ 54,644 ล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ เสร็จสิ้นแล้ว โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้มีการลงนามในสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค.60 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายเหลืองจะมีการลงนามในสัญญาในวันที่ 16 มิ.ย.60 ซึ่งการพัฒนาโครงการ PPP ทั้ง 3 โครงการได้เร็วขึ้นจะทำให้การเดินทางของประชาชนมีความสะดวกสบาย ลดความแออัดของการจราจร และลดการสิ้นเปลืองพลังงานของประเทศ

ด้านนางปานทิพย์ ศรีพิมล ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวว่า มาตรการ PPP Fast Track เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนของรัฐบาล โดยการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ในการทำงานในบางขั้นตอนให้คู่ขนานกันไป โดย สคร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ PPP ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในกำหนดรายการข้อมูลที่จำเป็นในการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนให้ชัดเจน (Checklist) และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ลดระยะเวลาการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ที่จะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มทำการศึกษาโครงการจนถึงการประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนจากเวลาปกติประมาณ 25 เดือน ให้เหลือเพียง 9 เดือน

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ทั้งมาตรการ PPP Fast Track และการปรับปรุง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่ต้องการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่จะช่วยทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศได้เร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้มีการลงทุนจากความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 47,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ จะมีการเสนอให้คณะกรรมการ PPP ในช่วงปลายเดือนนี้ เกี่ยวกับโครงการ PPP Fast Track ระยะที่ 2 ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะผลักดันโครงการไหนบ้าง เท่าที่มีการหารือเบื้องต้น คาดว่าจะมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - วงแหวนกาญจนาภิเษก โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตกและช่วงตะวันออก โครงการรถไฟฟ้าสายภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง และ โครงการรถไฟฟ้าสายเชียงใหม่ วงเงินลงทุนรวมประมาณ 6 แสนล้านบาท โดยหลังจากสรุปโครงการที่จะเข้า PPP Fast Track ระยะที่ 2 ได้แล้วจะเร่งเสนอให้ครม. พิจารณาทันที

อีกทั้งจะมีการเสนอบอร์ด PPP พิจารณาอีก 2 โครงการลงทุนเดิม ตามโครงการ PPP Fast Track ระยะแรก คือ โครงการมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี, โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช วงเงินลงทุนรวม 1.3-1.4 แสนล้านบาท

"เบื้องต้นต้องการให้กระบวนการ PPP Fast Track จบภายในปีนี้ เพื่อจะได้เดินหน้าโครงการในส่วนอื่นให้เป็นไปตามแผน" นายเอกนิติ กล่าว

สำหรับการแก้พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 จะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยเน้นความโปร่งใสมากขึ้น กระบวนการทำงานจะไม่มีการข้ามขั้นตอนของกฎหมายเลย และจะมีการตรวจสอบกระบวนการทุกขั้นตอน จาก 7 หน่วยงาน อาทิ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษบกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น อีกทั้ง ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากเอกชนอีก 7 คนมาร่วมตรวจสอบเพื่อยืนยันความโปร่งใส และจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และหน่วยงานอิสระอย่างต่อเนื่องด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ