(เพิ่มเติม) กกพ.เผยมีผู้ผ่านคุณสมบัติ 633 รายเข้าจับสลากโซลาฟาร์มวันนี้ประกาศผลทางการ 28 มิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 26, 2017 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.จัดพิธีจับสลากเพื่อคัดเลือกเจ้าของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์กภาคการเกษตร (โซลาฟาร์ม) มีผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมจับสลากทั้งสิ้น 636 ราย จากผู้ผ่านคุณสมบัติรอบแรก 639 ราย คิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟฟ้า 3,104.34 เมกะวัตต์ จากเดิม 3,119.34 เมกะวัตต์ โดยจะประกาศผลเบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการภายในวันนี้

ทั้งนี้ กกพ.ได้ถอดรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติรอบแรกออกไป 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการหมายเลข ERC600232 สหกรณ์กวางแห่งประเทศไทย, โครงการหมายเลข ERC600277 สหกรณ์การเกษตรพะวอ และ โครงการหมายเลข ERC 600577 สหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยสัตว์น้ำและการเกษตรแห่งประเทศไทย หลังจากพบว่าคุณสมบัติไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ในวันนี้มีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติมาเข้าร่วมจับสลากทั้งสิ้น 633 ราย คิดเป็นปริมาณเสนอขาย 3,089 เมกะวัตต์ จากทั้งหมดที่มีสิทธิ 636 ราย คิดเป็นปริมาณเสนอขาย 3,104.34 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีสหกรณ์ภาคการเกษตรจำนวน 3 แห่งเดินทางมาลงทะเบียนภายในกำหนดเวลา 9.30 น.

"วันนี้มาจริงๆ 633 ราย เพราะมีสหกรณ์การเกษตรมาไม่ทัน ทำให้ตกการจับสลากไป ทำให้เหลือ 633 ราย คิดเป็นปริมาณเสนอขาย 3,089 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นประมาณ 14 เท่าของปริมาณที่รับซื้อ 219 เมกะวัตต์ ตอนนี้เริ่มจับก็คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเย็นๆ ใช้เวลาประเมินผลอีก 1 ชั่วโมง ก็จะประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการได้ตามเป้าหมายในเย็นนี้หรือคืนนี้"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล คาดว่า จะสามารถประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการในวันนี้ ทั้งผลการจัดสลากอันดับขอหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งหน่วยงานราชการ ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ภาคการเกษตร ไม่เกิน 119 เมกะวัตต์ รวมทุกเขตพื้นที่ไม่เกิน 219 เมกะวัตต์ เพราะมีผู้ที่ยื่นเสนอโครงการเข้ามาจำนวนมาก และต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินผลพอสมควร

สำหรับลำดับของสลากที่ได้ในวันนี้ กกพ.จะนำไปประมวลผล โดยพิจารณาจากเงื่อนไขศักยภาพของระบบไฟฟ้าตามลำดับเป็นสำคัญ ได้แก่ ไม่เกินศักยภาพของ Feeder, ไม่เกินศักยภาพของหม้อแปลง และไม่เกินศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้า โดย กกพ.จะประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มิ.ย.60 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของการยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจรายละเอียดคุณสมบัติของผู้ร่วมลงทุนโครงการและผู้สนัสนุนโครงการในความพร้อมทุกๆ ด้าน ผู้ลงทุนจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายใน 30 ธ.ค.61

"กกพ.จะสามารถประกาศผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มิ.ย. หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.-9 ต.ค.จะเปิดให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าของโครงการและผู้สนับสนุนโครงการมายื่นเสนอขายไฟฟ้า และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาในวันที่ 3 พ.ย. หลังจากนั้นจะต้องมาลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน หรือจนถึงวันที่ 2 มี.ค.61 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 30 ธ.ค.61" นายวีระพล กล่าว

สำหรับการรับซื้อครั้งนี้เป็นโควตาหน่วยงานราชการ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งมีเพียงองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) เพียงองค์การเดียวที่มีระเบียบให้สามารถผลิตไฟฟ้าและขายเชิงพาณิชย์ได้ ขณะที่เป็นโควตาของสหกรณ์ภาคการเกษตร 119 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 คาดว่าจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในช่วงปลายปี 61 แต่เชื่อว่าจะไม่มากนัก

ด้านนายอังกูร ถิ่นพนม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮเทค เพาเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมจับสลากโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ กล่าวว่า การแข่งขันของโครงการระยะที่ 2 วันนี้มีมากกว่าคราวที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่คาดว่าภาครัฐจะยังไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มครั้งใหม่ในเร็วๆนี้ แม้ว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่รับซื้อจากโครงการระยะที่ 2 จะอยู่ที่ 4.12 บาท/หน่วย ลดลงจากระยะแรกที่รับซื้อในอัตรา 5.66 บาท/หน่วยค่อนข้างมากก็ตาม โดยพื้นที่ที่มีการแข่งขันค่อนข้างมากจะอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานที่เปิดรับซื้อจำนวนมากและประสิทธิภาพของแสงแดดค่อนข้างดีเอื้อต่อการผลิตไฟฟ้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 ได้รับความสนใจจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนโครงการจำนวนมาก โดยมี บจ.อย่างน้อย 12 รายที่ประกาศเป็นผู้สนับสนุนในหลายโครงการ เช่น GUNKUL, SUPER,ETE,BCPG,PSTC,TSE,TWZ,SOLAR,RATCH,BRIMM,CWT,GREEN เป็นต้น

อนึ่ง การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 1 มีโครงการที่เข้าร่วมจับสลาก 167 ราย ปริมาณเสนอขายรวม 835 เมกะวัตต์ โดยมีปริมาณรับซื้อจำนวน 300 เมกะวัตต์ไป

ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 คาดว่าจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในช่วงปลายปี 61 แต่เชื่อว่าจะไม่มากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ