BAY มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 33.80-34.10 ตลาดจับตาท่าทีกนง.ต่อนโยบายศก.ในยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 3, 2017 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.80-34.10 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 33.98 ต่อดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับขึ้นตามทิศทางตลาดโลก ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยและตลาดพันธบัตรด้วยมูลค่า 4.9 พันล้านบาท และ 5.8 พันล้านบาท ตามลำดับ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี เงินบาทแข็งค่าราว 5.4% โดยมีกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 1.3 หมื่นล้านบาท และ 1.56 แสนล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่า ดอลลาร์ได้แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 ปีเทียบกับเงินยูโร ตลาดจะติดตามบันทึกการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบล่าสุดและข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ขณะที่การแข็งค่าของเงินยูโรสะท้อนคาดการณ์ของนักลงทุนที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อาจประกาศปรับลด QE ในเดือนกันยายน ทั้งนี้มีแนวโน้มที่ผู้ดำเนินนโยบายการเงินทั่วโลกอาจปรับเปลี่ยนแนวทางจากนโยบายค่าเงินอ่อนเพื่อสนับสนุนการส่งออก หลังการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมีข้อจำกัดในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ขณะที่ภาวะความผันผวนต่ำในตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะนี้เป็นจังหวะที่เอื้อให้กับธนาคารกลางของประเทศหลักๆ สื่อสารกับตลาดได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแสดงว่าผู้ดำเนินนโยบายเชื่อว่า การส่งสัญญาณปรับสมดุลนโยบายจะไม่นำไปสู่ภาวะการเงินตึงตัวอย่างรุนแรง และสอดคล้องกับมุมมองของกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ที่ว่า ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 เนื่องจากตลาดทยอยรับรู้ข่าวที่เฟดนำร่องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่ปี 2558 และแม้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีกในอนาคต แต่ตลาดจะให้ความสนใจกับทิศทางการปรับนโยบายการเงินนอกสหรัฐ ซึ่งมองว่าอัตราดอกเบี้ยกำลังจะเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของวัฎจักรขาขึ้น

สำหรับปัจจัยในประเทศ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติเป็นเอกฉันฑ์ให้ตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% หลังภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวในบางภาคส่วนและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ตลาดจะจับตาท่าทีของ กนง.ที่มีต่อสัญญาณล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุโรปซึ่งอาจส่งผลต่อค่าเงินบาทได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ