กยท.คาดราคายางฟื้นหลังผ่านจุดต่ำสุด แนวโน้มศก.โลกบวก-บาทอ่อนค่าหนุน ทุกฝ่ายร่วมช่วยเหลือเกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 10, 2017 15:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แถลงถึงประเด็นสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศว่า ปัจจุบันตลาดโลกมีความต้องการใช้ยางพารามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศไทยส่งออกยางพาราในรูปแบบของวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้หลายครั้งที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของโลกมีการปรับเปลี่ยนก็จะส่งผลต่อราคายางด้วย โดยเมื่อเปรียบเทียบราคาย้อนหลังกลับไปจะเห็นว่า แนวโน้มของยางพาราปรับตัวขึ้นลงตามวงจรของเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆ แล้วสถานการณ์ในห้วงระยะเวลานี้มีความใกล้เคียงกับในห้วงเวลาที่ผ่านมา และในช่วงนี้ก็มีลักษณะการเพิ่มขึ้นของราคายาง จะเห็นได้ว่าปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน จะกำหนดกรอบราคาในแต่ละปี ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นแทนการพึ่งพิงการส่งออก

นายธีรัช กล่าวถึงสถานการณ์ด้านราคายางในช่วงนี้ว่า สำหรับราคายางช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเล็กน้อย ยางแผ่นดิบ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 50.97 บาท/กิโลกรัม ลดลง 1.16 บาท/กิโลกรัม ยางแผ่นรมควัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 53.13 บาท/กิโลกรัม ลดลงเพียง 0.98 บาท/กิโลกรัม เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคายางของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่ง กยท. มองว่า ราคาได้ผ่านวิกฤตที่ลดลงอย่างรุนแรงแต่ละวันแล้ว แต่ราคายางที่ลดลงช่วงนี้ มีสาเหตุจากสต๊อกยางของจีนที่ยังคงเพิ่มขึ้นเท่านั้น ส่วนปัจจัยพื้นฐานอื่นยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนราคายางทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ประกอบกับการขยายตัวในภาคการส่งออก หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย ที่ 1.5% อีกทั้งราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ลดลง และปัจจัยด้านเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทั้งจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ยังคงมีการขยายตัว ในภาคการผลิตจากดัชนี PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ) ของเดือนมิถุนายน ยังคงเพิ่มขึ้น และยังอยู่สูงกว่าระดับ 50 สอดรับกับรายงานยอดขายรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี รวมไปถึงปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศในช่วงนี้ มีปริมาณฝนร้อยละ 40 – 60 ในภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ส่วนพื้นที่ปลูกยางอื่น มีปริมาณฝนร้อยละ 60 – 70 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อยลง

“คาดว่า สถานการณ์ราคายางจะขยับตัวขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 3 ประเทศผู้ผลิตยางของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในประชุมหารือร่วมกันในเวทีสภาไตรภาคียางพารา (International Tripartite Rubber Council – ITRC) ครั้งที่ 28 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบตามที่ประเทศไทยเสนอในการนำมาตรการจำกัดการส่งออกมาใช้อีกครั้ง เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาราคายางผันผวนในระยะสั้น พร้อมทั้ง จะเร่งดำเนินการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีของ 3 ประเทศ ให้เร็วขึ้น จากเดิมกำหนดในช่วงเดือนธันวาคมเป็นเดือนกันยายนนี้เพื่อประชุมหารือแนวทางและมาตรการแก้ปัญหายางพารา นับว่า เป็นปัจจัยบวกในเชิงจิตวิทยาที่จะกระตุ้นให้สถานการณ์ราคายางมีทิศทางดีขึ้น" ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติม

นายธีธัช กล่าวถึงมาตรการการและแนวทางแก้ปัญหายางพารา ว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติโครงการเพื่อช่วยเหลือทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งการอนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยางพารา การดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลสนับสนุนการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี จำนวนไม่เกิน 300 ล้านบาท และการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเติม ในโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง อีกจำนวน 11,460 ครัวเรือน

ในขณะเดียวกัน กยท. มีกองทุนพัฒนายางพารา ซึ่งเป็นเงินเพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนผู้มีส่วนได้เสียยางพาราทั้งระบบ ไม่เพียงเกษตรกรชาวสวนยางเท่านั้น เพราะการพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ให้เกิดความมั่นคงได้อย่างยั่งยืนจะต้องพัฒนาทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การแปรรูปอุตสาหกรรม จนถึงการตลาด โดยการจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) ประมาณ 2.5 พันล้านบาท ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ทั้งนี้ หากเป็นชาวสวนยางรายย่อย สามารถใช้บุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ สำหรับสถาบันเกษตรกร ต้องมีทุนเรือนหุ้นไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท หากสถาบันใดได้รับการผ่อนผัน ขยายเวลาชำระหนี้ ลดหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ฯลฯ ถือว่า มีคุณสมบัติที่จะกู้ยืมได้ และสำหรับผู้ประกอบกิจการยาง จะต้องไม่มีหนี้ผิดค้างชำระต่อสถาบันการเงินหรือ กยท. เช่นกัน

นอกจากนี้ กยท. ยังมีการผลักดันหลักเกณฑ์และวิธีการใช้จ่ายเงินจัดเก็บค่าธรรมเนียมมาเป็นค่าบริหารกองทุนพัฒนายางพาราด้านต่างๆ โดยตัวแทนเกษตรกร สถาบันเกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ด้านสวัสดิการเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งใช้จ่ายเงิน ร้อยละ 7 ของเงินกองทุน ขณะนี้ เกษตรกรสามารถใช้สิทธิ์ตามสวัสดิการ ซึ่ง กยท.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว กรณีสวนยางประสบภัยธรรมชาติ ในพื้นที่ภาคใต้เมื่อปลายปี 2559 ประมาณ 4,000 ครัวเรือน กรณีเกษตรกรเสียชีวิต ทายาทจะได้รับการช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท รวมถึงเงินทุนกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวสวนยาง เป็นต้น

สำหรับเงินกองทุนพัฒนายางพารา ร้อยละ 35 ใช้ในการช่วยส่งเสริม เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยาง ซึ่งขณะนี้ กยท. ได้สนับสนุนเงินทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท ในการแปรรูป พัฒนาปรับปรุงคุณภาพต่างๆ รวมทั้ง การส่งเสริมและพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางโดยเฉพาะ อีกร้อยละ 3 ของเงินกองทุนในการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพ

“สำหรับกระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการขับเคลื่อนสร้างเสถียรภาพราคายาง โดยมอบให้ กยท. เร่งเตรียมจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยมีผู้ประกอบกิจการส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ ทั้ง 5 บริษัท ประกอบด้วย บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด บมจ. ไทยฮั้วยางพารา และ บมจ. ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น ประเทศไทย (TRUBB) ร่วมกับ กยท. ลงทุนร่วมกัน องค์กรละ 200 ล้านบาท เข้าซื้อยางในตลาด ซึ่งส่งผลดีต่อราคายาง และเป็นการปฏิบัติที่ชัดเจนภายใต้การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จะสามารถรักษาระดับราคา ผลักดันราคาให้อยู่ในระดับสมดุลอีกครั้ง ถือเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการ โดยจะมีเงินทุนเริ่มต้นร่วมกัน 1,200 ล้านบาท ในการใช้ซื้อยางทั้งในตลาดซื้อขายจริงและตลาดซื้อขายล่วงหน้า ในหลักการแล้วหากใช้ในตลาดล่วงหน้า สามารถขยายผลได้ถึง 10 เท่า จากเงิน 1,200 ล้านบาท จะขยายผลได้ถึง 12,000 ล้านบาท และซื้อยางได้ประมาณ 200,000 ตัน ถือเป็นมาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผลักดันให้เป็นรูปธรรมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ราคายางกลับสู่ดุลยภาพได้เร็วขึ้น" ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

นายธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ วันนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายาง ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวจะสำเร็จได้นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกษตรกรสามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้หลายวิธี ทั้งการเลือกปลูกยางพาราในพื้นที่ๆ เหมาะสม และที่สำคัญไม่บุกรุกป่า ลดต้นทุนการผลิตให้ได้ โดยปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกพืชหลายๆ ชนิด ซึ่ง กยท. ให้การส่งเสริมทั้งทุนในการปลูกแบบผสมผสาน เป็นการปลูกพืชท้องถิ่นร่วมในสวนยาง หรือการเลี้ยงสัตว์ก็ดี สามารถเพิ่มรายรับให้กับครอบครัวในช่วงที่ราคายางผันผวนด้วย ทั้งนี้ แนวทางในการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต นั้น กยท.มีคำแนะนำการปลูกยาง การบำรุงรักษาจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ถูกต้อง เพื่อให้ผลผลิตของยางไทยมีคุณภาพ ซึ่งสิ่งนี้คือความแตกต่างด้านวัตถุดิบของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่ปลูกยาง ช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงต่างๆ ตลอดจนสื่อมวลชน มีการเผยแพร่องค์ความรู้ทั้งจากประสบการณ์ของปราชญ์ชาวบ้าน ครูยาง อยากให้ทุกคนเปิดโอกาสให้กับตัวเองในการรับข้อมูลที่ถูกต้องนำไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของอาชีพตัวทุกท่านเอง

นอกจากนี้ อีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญ คือ การส่งเสริมใช้ยางในประเทศ ซึ่งภาครัฐมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมและผลักดันมาตรการ แนวทางต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกัน เกษตรกรชาวสวนยาง และประชาชนคนไทยทุกคน สามารถร่วมกันรณรงค์ ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมยางพาราด้วยการใช้ยางให้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากยางพารา เช่น ของเล่นเด็ก หมอน กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง รถยนต์ และรถทุกประเภท เป็นต้น ไม่เพียงแต่ชีวิตประจำวันของเราทุกคนเท่านั้น ยางพารายังมีประโยชน์ด้านยุทโธปกรณ์ฝึกซ้อมทางทหาร ด้านคมนาคม ด้านการแพทย์ อีกนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้น หากทุกคนร่วมกันส่งเสริมและหันมาใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตที่ขายเฉพาะวัตถุดิบให้ประเทศอื่นๆ นำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าเพียงอย่างเดียว แต่เราจะให้ความสำคัญด้านการตลาดมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่มีขายผลผลิตอย่างเดียวรายได้ปีละ 2 แสนล้านบาท สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศอีกประมาณ 5-6 เท่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศโดยรวมได้

“การร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งรัฐบาล และ กยท. กระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรเป็นอย่างดี และเร่งทำงานเพื่อแก้ไขมาโดยตลอด ขอขอบคุณสำหรับข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งจากตัวแทนเกษตรกรบางกลุ่ม หรือจากอดีตนักการเมืองหลายท่าน กระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์และ กยท. พร้อมรับฟังและนำไปปรับใช้ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ตามความเหมาะสม และฝากถึงทุกกลุ่มที่ต้องการนำเสนอแนวทาง ท่านสามารถส่งข้อเสนอแนะของท่านผ่านช่องทางต่างๆ หรือสำนักงานสาขาของ กยท. ทั่วประเทศใกล้บ้านท่าน การรวมตัวกันเพื่อกดดันรัฐบาลด้วยการประท้วงหรือการเดินขบวนอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง และการแก้ไขปัญหาทำให้ยากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อราคายาง ขณะนี้ขอให้รัฐบาลและ กยท. ได้ใช้เวลาและวิธีการต่างๆที่ได้เตรียมไว้เพื่อการแก้ไขปัญหาราคายางที่ผันผวน ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใช้มาตรการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจจึงจะแก้ไขได้ การสร้างข่าวในทางลบ การสร้างความขัดแย้งหรือการรวมกลุ่มกดดัน มิใช่วิธีการแก้ไขปัญหาในเวลานี้ รัฐบาลและ กยท. มีความจริงใจในการแก้ปัญหาและทำอย่างจริงจังมาโดยตลอด ขอให้พี่น้องเกษตรกรเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ราคายางในปัจจุบันเป็นเพียงการปรับตัวในระยะสั้น และจะกลับสู่สถานการณ์ปกติโดยเร็วอีกครั้งอย่างแน่นอน" นายธีธัช กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ