(เพิ่มเติม) กนง.ระบุ ศก.ไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง, จับตากม.แรงงานต่างด้าวต่อความเสี่ยงประมาณการเงินเฟ้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 14, 2017 17:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือน มิ.ย.60 ว่า เศรษฐกิจไทยล่าสุดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องที่ 3.5% และ 3.7% ในปี 60 และปี 61 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าประมาณการครั้งก่อน

ทั้งนี้ แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้มาจากการส่งออกสินค้าและบริการ ขณะที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ส่วนแรงกระตุ้นภาคการคลังยังมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจ แม้การลงทุนบางส่วนล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้จากปัจจัยด้านอุปทาน และมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ

ทั้งนี้ ความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจโน้มไปทางด้านต่ำจากทั้งปัจจัยด้านต่างประเทศและในประเทศ แต่ความไม่แน่นอนปรับลดลง สำหรับความเสี่ยงต่อประมาณการเงินเฟ้อโน้มไปด้านสูงจากนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

โดยนโยบายการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขายตัวต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. ในฐานะเลขานุการ กนง.ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/60 ขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้การส่งออกสินค้าขยายตัวดีและกระจายในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 2/60 ปรับลดลงจากไตรมาสก่อนจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ เพราะผลของฐานราคาอาหารสดปีก่อนที่อยู่ในระดับสูงจากภาวะภัยแล้ง อีกทั้งในปีนี้ที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตมีมากรวมถึงราคาพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

ภาวะการเงินยังผ่อนคลายในไตรมาส 2/60 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่า ณ สิ้นปี 59 ทุกช่วงอายุโดยเฉพาะระยะยาว ขณะที่ต้นทุนการระดมทุนจากธนาคารพาณิชย์(ธพ.) ลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงที่ให้แก่รายย่อย ด้านปริมาณการระดมทุนของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากทั้งช่องทางสินเชื่อและตราสารหนี้โดยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 สินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากธุรกิจขนาดใหญ่เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้นสินเชื่อบัตรเครดิต

สำหรับเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทยมากขึ้น

ทั้งนี้ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงบางจุดที่ต้องติดตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) มีแนวโน้มลดลง แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึงและปัญหาเชิงโครงสร้างในบางภาคธุรกิจ ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ด้อยลง อย่างไรก็ดีสถาบันการเงินมีเงินกองทุนและการกันสำรองในระดับสูงสามารถรองรับความเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงได้

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าโอกาสที่ราคาอาคารชุดจะเร่งตัวสูงเช่นในช่วงก่อนหน้ามีน้อยลงเนื่องจากผู้ประกอบการและสถาบันการเงินมีความระมัดระวังภายใต้ภาวะที่อุปสงค์ยังขยายตัวอย่างช้าๆ และมีอุปทานคงค้างระดับสูงในบางทำเลแต่ยังอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการได้ ขณะที่พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานยังมีอยู่ ซึ่งอาจทำให้ผู้ต้องการลงทุนประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องที่ 3.5% และ 3.7% ในปี 60 และปี 61 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีเป็นสำคัญ และแรงกระตุ้นภาคการคลังยังมีอยู่ต่อเนื่อง

ขณะที่การใช้จ่ายของภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การส่งออกสินค้าขยายตัวทั่วถึงมากขึ้นทั้งในมิติของหมวดสินค้าและตลาดส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 60 คาดว่าจะขยายตัว 5.0% สูงกว่าปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 0.1% โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับประโยชน์จากความนิยมใช้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) อย่างไรก็ดี

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อาจขยายตัวชะลอลงบ้างในระยะต่อไป จากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของจีนที่เริ่มชะลอลงหลังจากเร่งเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ในปีก่อน

การส่งออกบริการฟื้นตัวได้เร็วและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ จึงปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 60 มาอยู่ที่ 34.9 ล้านคน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนประเภทกรุ๊ปทัวร์ที่ฟื้นตัวได้เร็ว หลังได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายในช่วงปลายปีก่อน รวมถึงไทยได้รับผลดีจากการเปิดเส้นทางการบินใหม่จากจีนมายังจังหวัดท่องเที่ยวของไทยโดยตรง และจากมาตรการจ กัดการขายแพคเกจท่องเที่ยวไปเกาหลีใต้ของทางการจีนทำให้นักท่องเที่ยวจีนบางส่วนเปลี่ยนมาเที่ยวไทยมากขึ้น

การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ตามการใช้จ่ายอุปโภคและการลงทุนภาครัฐที่เบิกจ่ายได้ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แม้ในบางโครงการอาจจะล่าช้ากว่าที่คาดไปบ้าง เช่น โครงการมอเตอร์เวย์ 2 สายที่ติดปัญหาการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม, การเลื่อนการเบิกจ่ายของโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ในขณะที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีความชัดเจนขึ้นนั้นได้มีส่วนช่วยเพิ่มการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้ส่วนหนึ่ง

การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากรายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้น รวมถึงการจ้างงาน ในภาคบริการและอุตสาหกรรมในภาคส่งออกที่คาดว่าจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็งมากนัก เพราะการจ้างงานและรายได้โดยรวมของครัวเรือนในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลดีอย่างชัดเจนจากการส่งออกที่ปรับดีขึ้น รวมถึงแนวโน้มการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน automation) ที่มากขึ้น

นอกจากนี้หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีความเปราะบางของภาระหนี้สินต่อรายได้มากกว่ากลุ่มอื่น การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในระยะสั้น เริ่มเห็นความต้องการลงทุนขยายกำลังการผลิตในภาคการผลิตเพื่อส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างมีแนวโน้มลดลงตามภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว ในระยะต่อไป การบริโภคและการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวรวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง จะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวในระดับต่าจากปัจจัยด้านอุปทาน และมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ประเมินว่าจะค่อยๆ ปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังคงได้รับแรงถ่วงจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และจากราคาอาหารสดที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงโดยเป็นผลจาก (1) ปัจจัยเชิงวัฏจักร เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกในหมวดอาหารทรงตัวในระดับต่ำ (2) ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและระบบชลประทาน คณะกรรมการฯ จึงปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 และ 2561 มาอยู่ที่ 0.8% และ 1.6% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจมีความเสี่ยงโน้มไปด้านต่ำใกล้เคียงเดิม แม้เศรษฐกิจคู่ค้าโดยรวมและภาวะการค้าโลกจะขยายตัวดีขึ้นชัดเจน แต่ความเสี่ยงด้านต่ำจากปัจจัยต่างประเทศยังคงมีอยู่ จากความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า รวมถึงความเสี่ยงจากปัจจัยในประเทศจากกำลังซื้อที่ยังไม่กระจายตัวเข้มแข็งนัก

สำหรับโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงกว่ากรณีฐานยังมีอยู่บ้างจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจขยายตัวดีกว่าคาดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ประมาณการอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงโน้มไปด้านสูง แม้ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจะโน้มไปด้านต่ำ เนื่องจากนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่อาจส่งผลให้ตลาดแรงงานตึงตัวขึ้นและทำให้ต้นทุนค่าจ้างของธุรกิจปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐในเรื่องดังกล่าวด้วย

ดังนั้น นโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไปเพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเข้าสู่เป้าหมาย เศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนมากขึ้น แต่การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศอาจยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควรและยังคงมีความเสี่ยงจากด้านต่างประเทศ อีกทั้งแรงกดดันเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 60 อาจต่ำกว่าระดับเป้าหมายแม้ยังมีทิศทางปรับสูงขึ้น ขณะที่ภาวะการเงินผ่อนคลายมากขึ้นและเสถียรภาพระบบการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี

คณะกรรมการฯ จึงเห็นพ้องว่าควรรักษาระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินไปได้อีกระยะหนึ่ง เพื่อสนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความต่อเนื่องและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเข้าสู่ระดับเป้าหมายอย่างยั่งยืน โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมาย ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ