กรมการค้าต่างประเทศ ชี้แจงการระบายข้าวในสต็อกรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 29, 2017 18:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ขอชี้แจงว่า ตั้งแต่ที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) และคณะอนุกรรมการต่างๆ รวมทั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เพื่อทำหน้าที่ตรวจนับปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือจากการรับจำนำของรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยการลงพื้นที่ของคณะทำงาน 100 ชุด ซึ่งมีผู้ตรวจราชการจากทุกกระทรวงเป็นหัวหน้าชุด และใช้บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและทหารจากกองทัพทั้ง 4 ภาค ภายใต้หลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามการอบรมและคู่มือการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่จัดทำขึ้นตามหลักสากลในการตรวจสอบสินค้าเกษตรซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผลการตรวจสอบออกมาเช่นใด จะถือว่าเป็นคุณภาพของสินค้านั้นทั้งกอง และจะยึดถือผลนี้เป็นเกณฑ์ โดยมีผู้แทนเจ้าของคลังและบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวหรือผู้แทนร่วมรับทราบและลงนามรับรองในเอกสารกำกับตัวอย่างข้าวและรายงานผลการปฏิบัติงานโดยตลอดและไม่มีข้อโต้แย้งในขณะปฏิบัติงานแต่อย่างใด และคณะกรรมการ นบข. ได้เห็นชอบให้ใช้ผลการตรวจสอบตามรายงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการระบายข้าว รวมทั้งแจ้งความดำเนินคดีกรณีข้าวมีคุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด

การระบายข้าวในสต็อกของรัฐตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี (สิงหาคม 2557 - กรกฎาคม 2560) กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการดำเนินการระบายข้าว ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ แนวทาง วิธีการ หลักเกณฑ์ ที่คณะกรรมการ นบข. ให้ความเห็นชอบมาโดยตลอดใช้หลักปฏิบัติเดียวกันกับทุกราย ด้วยความโปร่งใส ชัดเจน โดยนำข้าวที่ผ่านการตรวจนับปริมาณและมีการวิเคราะห์และจัดระดับคุณภาพแล้วมาระบายตามจังหวะเวลา และช่องทางที่เหมาะสม โดยการระบายข้าวในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้พยายามนำข้าวออกมาประมูลเป็นการทั่วไปให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ แต่การระบายก็ยังทำได้ไม่เร็วเท่าที่ควร เพราะตลาดข้าวทั่วไปมีขีดจำกัดในการรองรับปริมาณข้าวจากการที่ภาครัฐได้ระบายข้าวไปแล้วจำนวนมากก่อนหน้านี้ และข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ได้ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเป็นความกดดันให้ต้องพิจารณาช่องทางการระบายที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาสต็อกข้าวกดทับตลาดซึ่งมีผลต่อจิตวิทยาตลาด และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ที่เกษตรกรจะได้รับ รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่าย ประกอบกับข้าวในสต็อกของรัฐส่วนใหญ่เป็นข้าวที่คุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐานและข้าวดีบางส่วนปะปนกันไม่สามารถแยกกองขายได้ นอกจากนี้ข้าวในแต่ละคลังมีรายละเอียดของชนิดและคุณภาพข้าวที่แตกต่างกัน จากข้อจำกัดและปัญหาดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการ นบข. จึงต้องทบทวนแนวทางหลักเกณฑ์การระบายมาเป็นระยะตามสถานการณ์ โดยในช่วงต้นปี 2560 ได้มีมติทบทวนและปรับแนวทางการระบาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพข้าวและสภาพคลัง ซึ่งมีการจัดกลุ่มข้าวเพื่อการระบายออกเป็น 3 กลุ่ม ตามเกณฑ์คุณภาพของข้าว เพื่อแยกช่องทางการตลาดให้ชัดเจน โดยขายแบบยกคลัง ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เป็นข้าวทั่วไปเพื่อการบริโภค กลุ่มที่ 2 เป็นข้าวระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน และกลุ่มที่ 3 เป็นข้าวระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์

คลังข้าวทั้ง 8 แห่ง เมื่อจัดกลุ่มตามแนวทางที่มติคณะกรรมการนบข. กำหนดไว้เป็น ดังนี้ มี 5 คลังที่จัดเป็นข้าวกลุ่มที่ 2 ที่ต้องระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคน เนื่องจากมีสัดส่วนข้าวผิดมาตรฐานมาก (C) ปนอยู่เกินร้อยละ 20 ดังนี้

​          (1) คลังวรโชติ หลัง 2 จังหวัดอ่างทอง ที่ผ่านมาได้นำข้าวในคลังดังกล่าวออกมาประมูลแล้วแต่ไม่สามารถจำหน่ายได้ และเมื่อ นบข. มีมติทบทวนและปรับแนวทางการระบาย คลังวรโชติฯ ซึ่งมีข้าวปทุมธานีจำนวน 5 กอง ปีการผลิต 2556/57 และมีผลการจัดระดับคุณภาพข้าว แบ่งเป็น ข้าวผิดมาตรฐานแต่ปรับปรุงได้ 4 กอง และเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก (C) ซึ่งไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน 1 กอง โดยมีสัดส่วนข้าวผิดมาตรฐานมาก (C) ปนอยู่ร้อยละ 24

​(2) คลังถาวรโชคชัย หลัง 1 จังหวัดสระบุรี มีข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2556/57 จำนวน 4 กอง มีข้าวผิดมาตรฐานแต่ปรับปรุงได้ 2 กอง และเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก (C) ซึ่งไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน 2 กอง โดยมีสัดส่วนข้าวผิดมาตรฐานมาก (C) ปนอยู่ร้อยละ50

​          (3) คลัง บจก.โรงสีไฟแสงไพฑูรย์ (2000) หลัง 2 จังหวัด นนทบุรี มีข้าวขาว 5 % จำนวน 8 กอง มีข้าวผ่านมาตรฐาน 1 กอง ข้าวผิดมาตรฐานแต่ปรับปรุงได้ 6 กอง ซึ่งที่ผ่านมาได้นำข้าวออกมาประมูลแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก (C) ซึ่งไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน 1 กอง โดยมีสัดส่วนข้าวผิดมาตรฐานมาก (C) ปนอยู่ร้อยละ 22

​(4) คลังกิจเจริญทรัพย์ ลพบุรี หลัง 1/1 มีข้าวจำนวน 6 กอง เป็นข้าวขาว 25 % ปีการผลิต 2556/57 จำนวน 4 กอง เป็นข้าวที่ถูกต้องมาตรฐาน ที่ผ่านมาได้นำข้าวออกมาประมูลแล้ว โดยในคลังยังคงเหลือข้าวเหนียวขาว 10% ปีการผลิต 2555/56 จำนวน 2 กอง ซึ่งทั้ง 2 กองเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก (C) ไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน โดยมีสัดส่วนข้าวผิดมาตรฐานมาก (C) ปนอยู่ร้อยละ 36

​(5) คลังกิจเจริญทรัพย์ ลพบุรี หลัง 2 มีข้าวปทุมธานี 5 % ปีการผลิต 2556 /57 จำนวน 5 กอง มีข้าวผิดมาตรฐานแต่ปรับปรุงได้ 4 กอง และเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก (C) ซึ่งไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน 1 กอง โดยมีสัดส่วนข้าวผิดมาตรฐานมาก (C) ปนอยู่ร้อยละ 24

​มี 3 คลังจัดเป็นข้าวกลุ่มที่ 3 ที่ต้องระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ กำหนดสัดส่วนข้าวผิดมาตรฐานมาก (C) ปนอยู่เกินร้อยละ 80 และเป็นข้าวที่มีอายุการเก็บรักษาเกินกว่า 5 ปี

​​          (1) คลังกิจเจริญทรัพย์ ลพบุรี หลัง 1 มีข้าวจำนวน 5 กอง ปีการผลิต 2554/55 แบ่งเป็น ปลายข้าวหอมมะลิจำนวน 3 กอง เป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานแต่ปรับปรุงได้ ที่ผ่านมาได้นำข้าวออกมาประมูลแล้ว ส่วนข้าวที่เหลือมีปลายข้าวหอมมะลิ จำนวน 1 กอง และข้าวท่อนหอมมะลิ จำนวน 1 กอง และเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก (C) ทั้ง 2 กอง ซึ่งไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน และเป็นข้าวที่มีอายุการเก็บรักษาเกินกว่า 5 ปี

​​(2) คลังกิจเจริญทรัพย์ ลพบุรี หลัง 3 มีข้าวเหนียวขาว 10 % ปีการผลิต 2554 / 55 จำนวน 5 กอง แบ่งเป็น ข้าวที่ผ่านมาตรฐานจำนวน 1 กอง ที่ผ่านมาได้นำข้าวออกมาประมูลแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นข้าวผิดมาตรฐานแต่ปรับปรุงได้ 2 กอง และเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก (C) ซึ่งไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน 2 กอง และเป็นข้าวที่มีอายุการเก็บรักษาเกินกว่า 5 ปี

​​(3) คลังโรงสีไฟเจริญประภา หลัง 2 จังหวัดลพบุรี มีข้าวปทุมธานี จำนวน 1 กอง มีเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก (C) ซึ่งไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน โดยมีสัดส่วนข้าวผิดมาตรฐานมาก (C) ทั้งหมด (ร้อยละ100)

ที่ผ่านมากรมการค้าต่างประเทศได้มีหนังสือตอบชี้แจงข้อร้องเรียนเรื่องดังกล่าวให้เจ้าของคลัง โรงสี เซอร์เวย์ ที่รับผิดชอบคุณภาพข้าวทราบโดยตลอด ทั้งนี้ คลังดังกล่าวถูก อคส.และ อ.ต.ก ฟ้องดำเนินคดีเรื่องข้าวไม่ได้คุณภาพ โดยกระบวนการระบายข้าวในคลังดังกล่าวได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมติคณะกรรมการ นบข. เสร็จสิ้นแล้ว เจ้าของคลังมีสิทธิโต้แย้งแสดงข้อเท็จจริงต่อสู้ตามกฎหมายและกระบวนการพิจารณาในชั้นศาลต่อไป แต่ไม่มีสิทธิมายับยั้งไม่ให้รัฐขายข้าวของรัฐ เพราะหากไม่ระบายออกไปก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ และกรณีให้ตรวจสอบคุณภาพใหม่นั้น ขณะนี้ได้เลยขั้นตอนดังกล่าวมานานแล้ว เพราะได้มีการตรวจสอบคุณภาพข้าวมาตั้งแต่ปี 2557 ผลการตรวจก็เป็นที่รับทราบต่อสาธารณชนและเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการใหม่

ทั้งนี้ในการระบายข้าวในสต็อกของรัฐกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 เข้าสู่อุตสาหกรรม คณะกรรมการ นบข. ได้ให้ความสำคัญในการกำกับดูแลข้าวดังกล่าวเพื่อป้องกันการรั่วไหลเข้าสู่ระบบการค้าปกติมาตั้งแต่แรก โดยได้มอบหมาย อคส. และอ.ต.ก กำหนดมาตรการและดำเนินการบริหารจัดการ ควบคุมให้มีการนำข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ผู้ซื้อระบุอย่างเคร่งครัด และได้แต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการตรวจสอบการปฎิบัติตามสัญญาซื้อขายข้าวในสต็อก" เพื่อติดตามการปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยด้วย

สำหรับการระบายข้าวในสต็อกของรัฐที่มีปริมาณมากถึง 17.76 ล้านตัน และคุณภาพส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน คณะกรรมการ นบข. จึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ โดยคำนึงถึงผลกระทบในหลายมิติ เพราะเป็นปริมาณข้าวส่วนเกินที่กดทับตลาด และการเสื่อมสภาพของข้าว การระบายจะต้องพิจารณาช่องทางและเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อจิตวิทยาตลาด และราคาข้าวที่เกษตรกรจะได้รับจากการขายข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตใหม่ที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้งผลกระทบต่อตลาดข้าวสุขอนามัยของมนุษย์และสัตว์ ชื่อเสียงและคุณภาพข้าวไทย เพื่อให้สภาพการค้าข้าวไทยกลับมาสู่ภาวะปกติเป็นไปตามกลไกตลาดโดยเร็ว ดังนั้น เรื่องราคาข้าวที่ได้รับไม่ใช่เรื่องหลักในการตัดสินใจระบาย แต่ประเด็นสำคัญคือจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินดังกล่าวได้ เนื่องจากราคารับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดมาก และมีภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรับจำนำสูงมาก การขาดทุนจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการรับจำนำแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าเหตุใดในช่วงเวลานี้จึงมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการระบายข้าว ประเด็นเรื่องคลัง และผลการตรวจสอบคุณภาพข้าวมาวิพากษ์วิจารณาอย่างบิดเบือนข้อเท็จจริงให้สังคมเกิดความสับสน เพราะที่ผ่านมากรมการค้าต่างประเทศได้ชี้แจงให้ผู้ประกอบการและชี้แจงผ่านสื่อมวลชนให้สาธารณชนทราบอย่างโปร่งใสมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ