(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือนก.ค.60 เพิ่มขึ้น 0.17%, Core CPI เพิ่มขึ้น 0.48%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 1, 2017 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนก.ค.60 อยู่ที่ 100.53 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.17% แต่ลดลง 0.13% จากเดือน มิ.ย.60 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.60) เพิ่มขึ้น 0.60%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 101.30 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.48% และเพิ่มขึ้น 0.08%จากเดือน มิ.ย.60 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 7 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 0.55%

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ในเดือนก.ค.60 อยู่ที่ 101.66 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.55% และลดลง 0.38% จากเดือน มิ.ย.60 และดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 99.90 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.57% และเพิ่มขึ้น 0.01% จากเดือน มิ.ย.60

"อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.60 ที่สูงขึ้น 0.17% เป็นผลจากสินค้ากลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลก และผลกระทบฐานสูงจากภาวะภัยแล้งปีที่ผ่านมาได้คลายตัวลง จึงทำให้ราคาอาหารสดขยับตัวสูงขึ้น" น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สนค.ยังคงประมาณการการขยายตัวของเงินเฟ้อทั้งปี 60 ไว้ที่ 0.7-1.7% ภายใต้สมมุติฐาน คือ เศรษฐกิจในประเทศขยายตัว 3-4% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 45-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 34-36 บาท/เหรียญฯ

"แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และอาจจะมีผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ดังนั้น เงินเฟ้อน่าจะอยู่ในทิศทางขาขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 2% เช่นกัน" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

ส่วนการลอยตัวราคาก๊าซ LPG ที่มีผลในวันที่ 1 ส.ค. 60 นั้น จะไม่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก เพราะต้นทุนสินค้าไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยจากประเมินเบื้องต้นของกรมการค้าภายใน พบว่าหากราคา LPG ขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท จะทำให้ราคาอาหารจานด่วนเพิ่มขึ้นเพียงจานละ 5 สตางค์เท่านั้น แต่ที่ต้องติดตามคือผลกระทบจากน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสนค.จะศึกษาผลกระทบต่อไป แต่จะมีผลกระทบจะอยู่ในวงจำกัด โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบและมีราคาสูง เช่น สินค้าอุปโภคและบริโภค น้ำดื่ม ผักและผลไม้ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ