ครม.อนุมัติปรับเงื่อนไข"โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน"ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 1, 2017 18:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและครอบคลุมทุกพื้นที่ ขณะเดียวกันจะเป็นประโยชน์ของการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้ขยายธุรกิจ รวมถึงการปรับตัว ยกระดับขีดความสามารถในการประกอบกิจการการแข่งขันของตนเองตามแนวทางที่มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0

โดยเห็นชอบการปรับปรุงเงื่อนไขโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน เพื่อให้ SMEs เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยมีสถาบันการเงินทั้งที่เป็นภาครัฐ และภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบสามารถเข้าร่วม โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่อ (บสย.) สามารถประกันสินเชื่อได้มากขึ้นเพื่อให้ผลประโยชน์ตกกับ SMEs

สำหรับโครงการสินเชื่อทวีทุนในระยะที่ 6 วงเงินเดิม 1 แสนล้านบาท ใช้ไปแล้วประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท เหลืออีก 8.1 หมื่นล้านบาท ที่จะให้ บสย.ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อจำนวนดักงล่าวได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด โดยการปรับปรุงเงื่อนไขในรอบนี้ คือ ค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบการ SMEs จะใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อผ่านแบงก์ รัฐบาลและธนาคารจะร่วมกันรับผิดชอบ SMEs ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 เป็นเวลา 4 ปี ส่วนภาระค้ำประกันชดเชยที่ บสย.รับผิดชอบเดิมอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 23.5 วันนี้ปรับใหม่เป็นไม่เกินร้อยละ 30

โดยผลที่คาดว่าจะได้รับคือ SMEs ที่จะได้รับผลประโยชน์จากวงเงิน 8.1 หมื่นล้านบาทนี้อีกประมาณ 27,000 ราย คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อ 8.1 หมื่นล้านบาทได้หมดในสิ้นปีนี้ คิดเป็นการชดเชยค่าธรรมเนียมประมาณ 3,240 ล้านบาท ส่วนการชดเชยค่าประกันความเสียหายคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,900 ล้านบาทในปีแรก ปีที่ 2 ประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนปีต่อๆ ไปจนสิ้นโครงการคืออีก 10 ปีข้างหน้าขึ้นอยู่กับการจ่ายเงินคืนของ SMEs ซึ่งธนาคารพาณิชย์ได้ตกลงหารือกันแล้วว่าจะเน้นการให้สินเชื่อกับ SMEs รายใหม่มากกว่าที่เป็นรายเดิมที่เคยได้รับสินเชื่อแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่สินเชื่อใหม่ในระบบการเงินของสถาบันการเงินอีกประมาณ 136,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ 108,000 คน เกิดการขยายธุรกิจ ซื้อเครื่อจักรใหม่ ยกระดับ ซึ่งจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบการค้าขายของ SMEs เพิ่มขึ้นอีก 371,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนด้านอื่นๆ ซึ่งจากการหารือกับกระทรวงการคลัง สมาคมธนาคาร ธนาคารของรัฐได้ตกลงกันว่า จะสนับสนุนการให้ทักษะเกี่ยวกับการบริหารการเงิน เนื่องจากพบว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากที่จะทำให้ SMEs ไทยเติบโตได้ โดยเครือข่ายธนาคารพาณิชย์จะเข้ามาร่วมมือให้ความช่วยเหลือในส่วนนี้ โดยประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมจะรับผิดชอบในส่วนของการผลิตสมัยใหม่ การเข้าถึงเทคโนโลยี การเข้าถึงช่องทางการตลาด

ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะมี 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีสินเชื่อพิเศษช่วยดูแล ส่วนที่ 2 กรมโรงงานได้มีการลงพื้นที่ สำรวจความเสียหายและพร้อมช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย คาดว่าภายใน 2 วันนี้จะได้ตัวเลขเบื้องต้น

"เรามีมาตรการกองทุนที่ ครม.อนุมัติเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ทั้งหมด 3.7 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมดูแล 2 หมื่นล้านบาท สินเชื่อพิเศษจาก ธพว.อีก 1.5 หมื่นล้านบาท สามารถใช้เงินในส่วนนั้นได้ถ้าผู้ประกอบการจะถือโอกาสอัพเกรตก็ทำได้ ซึ่ง SMEs คนตัวเล็กก็สามารถใช้เงินจากกองทุนดังกล่าวได้ในการฟื้นฟู เพราะมีเงินสำหรับคนตัวเล็กอีกประมาณ 2 พันล้านที่ดูแลโดย สสว.ดอกเบี้ยมีตั้งแต่ 0-3% ตลอดเวลา 10 ปี" นายอุตตม กล่าว

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีคำขอสินเชื่อสำหรับคนตัวเล็กเข้ามาค่อนข้างมากประมาณ 4-5 พันล้านบาท อาจจะพิจารณาว่าจะเสนอ ครม.ขออนุมัติวงเงินเพิ่มหรือไม่ นอกจากนี้กำลังหารือแนวทางช่วยเหลือ SMEs ในเรื่องความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนว่าจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร เนื่องจาก SMEs เหล่านี้ยังมีความเข้าใจไม่มากพอ และถ้าไปใช้บริการสถาบันการเงินก็จะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งสำหรับ SMEs ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มากพอสมควร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ