ดัชนีธุรกิจกรุงไทย Q2/60 แผ่วลงจากกังวลบาทแข็งค่า-ต้นทุนผลิตเพิ่ม น้ำท่วมกระทบศก.ไม่มาก หวังแรงกระตุ้นจากภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 8, 2017 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ดัชนีธุรกิจกรุงไทย (Krung Thai Business Index: KTBI) ในไตรมาสที่ 2/60 จากการตอบกลับแบบสำรวจของลูกค้านักธุรกิจจำนวน 2,573 รายทั่วประเทศ พบว่าค่อนข้างอ่อนไหว และวกกลับไปลดต่ำกว่าระดับปกติ (50) ที่ระดับ 49.38 จากระดับ 50.56 ในไตรมาสก่อน

เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลด้านกำลังซื้อและความเปราะบางของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระดับฐานราก หลังราคาสินค้าเกษตรสำคัญเริ่มชะลอลง อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกในระยะถัดไป

นอกจากนี้ ยังกังวลต่อการบริหารจัดการแรงงานและต้นทุนการผลิต หลังรัฐบาลเตรียมบังคับใช้กฎหมายแรงงานต่างด้าว โดยกลุ่มธุรกิจที่พบว่ามีความกังวลมากขึ้น ได้แก่ ธุรกิจการเกษตร ธุรกิจพาณิชกรรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจก่อสร้าง และ ธุรกิจการเงินและประกันภัย

อย่างไรก็ดี มีกลุ่มธุรกิจที่ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ ธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตร ธุรกิจอุตสาหกรรม และ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลงตามราคาสินค้าเกษตร ต้นทุนทางการเงินลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และการส่งออกที่เติบโตสูงกว่าคาดการณ์

“หากพิจารณาความเชื่อมั่นจำแนกตามภูมิภาค พบว่าภาคกลางและตะวันตก เป็นภูมิภาคเดียวที่ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งนิคมอุตสาหกรรมและแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มีแนวโน้มเติบโต เช่น อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการได้รับผลบวกจากการส่งออกที่ขยายตัว และการฟื้นตัวของตลาดในประเทศ กรุงเทพฯและปริมณฑล แม้ความเชื่อมั่นลดลง แต่เป็นภูมิภาคที่มีความเชื่อมั่นสูงสุด เนื่องจากจะมีการลงทุนด้านคมนาคมเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สีชมพู สีส้ม และสีม่วงส่วนต่อขยาย ภาคตะวันออก ความเชื่อมั่นลดลงจากการท่องเที่ยวที่ยังได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ แม้จะได้รับแรงหนุนจากการส่งออก และความคาดหวังต่อโครงการ EEC ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากการค้าชายแดน ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. โดยเฉพาะการส่งออกไปเมียนมาและสปป.ลาว ที่หดตัว ภาคใต้ เป็นภูมิภาคที่ความเชื่อมั่นต่ำที่สุด เนื่องจากผลกระทบของราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน"

สำหรับในไตรมาสที่ 3/60 หากรัฐบาลดึงการลงทุนเข้าสู่ EEC ได้มากขึ้น และขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ได้ตามเป้า รวมถึงผู้ประกอบการมีความพร้อมกับเรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่มีความชัดเจน จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นให้ดีขึ้น

ขณะที่ผลกระทบของอุทกภัยในภาคเหนือและภาคอีสาน ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้นที่ 5,000-8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 0.05% ของ GDP โดยส่วนใหญ่เกิดจากภาคการค้าและการท่องเที่ยว ขณะที่พื้นที่เกษตรเสียหายประมาณ 600-1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ธนาคารจึงยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้ที่ 3.5% และ 3.6% ในปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ