เชฟรอน เตรียมพร้อมเข้าประมูลสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ หลังรัฐเล็งเปิดช่วงปลายก.ย.-ต.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 16, 2017 12:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสตีฟ กรีน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนเอเชียแปซิฟิกสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้เชฟรอนอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อเข้าร่วมในการประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมในไทยที่กำลังจะหมดอายุ เพื่อคงความต่อเนื่องในการผลิตพลังงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย

"เชฟรอนประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนระยะยาวในประเทศ เราภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา 55 ปี โดยได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในอ่าวไทย เรามีผลการดำเนินงานด้วยมาตรฐานและสถิติด้านความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบที่ได้รับการยอมรับ ทั้งยังมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาสังคมผ่านโครงการต่างๆ มาโดยตลอด"นายสตีฟ กรีน กล่าว

อนึ่ง เชฟรอน ถือสัมปทานปิโตรเลียมหลายแห่งในไทย ซึ่งรวมถึงการเป็นผู้ดำเนินการ (operator) ในแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 แหล่ง ซึ่งกำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 โดยนอกจากแหล่งเอราวัณแล้ว ยังมีแหล่งบงกชด้วย ซึ่งการผลิตปิโตรเลียมจากทั้ง 2 แหล่งมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2,160 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน คิดเป็น 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย

ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ออกตามความใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติมรวม 4 ฉบับเมื่อวานนี้แล้ว ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์การประกาศประมูลแหล่งปิโตรเลียม รายภาค โดยในอ่าวไทยใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) นั้น กรมฯจะเร่งเสนอร่างเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) แหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 65-66 คือแหล่งเอราวัณและบงกช ต่อคณะกรรมการปิโตรเลียม และคาดว่าเมื่อได้รับการอนุมัติจากกระทรวงพลังงานก็คงจะเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในเดือนก.ย.นี้ และเปิดให้เอกชนเสนอแข่งขันได้ในปลายเดือนก.ย.-ต.ค.

ส่วนการประมูลแหล่งอื่น ๆ ก็คงจะเปิดให้ยื่นแข่งขันได้ภายใน 3 เดือนถัดจากการพิจารณา 2 แหล่งดังกล่าวเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ PSC จะกำหนดคำนวณจากรายได้ที่พบปิโตรเลียม แบ่งเป็นค่าภาคหลวง 10% กำหนดการหักค่าใช้จ่าย 50% ส่วนที่เหลืออีก 40% จะเป็นการแบ่งครึ่งทั้งรายได้และการลงทุนของภาครัฐและเอกชน หรือที่เรียกว่า PROFIT SHARING โดยในส่วนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ภาคเอกชนสามารถเสนอตัวเลขเพื่อแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน TOR จะกำหนดให้เอกชนเสนอเรื่องการวางแผนผลิตให้ต่อเนื่องในอัตราที่เหมาะสม และราคาก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายจะต้องไม่สูงกว่าเดิมมากนัก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ราคาก๊าซฯในอ่าวไทยอ้างอิงราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน ในสูตรนี้อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับการประมูลแบบ PSC และอาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์การลงทุนที่ผู้ลงทุนต้องลงทุนสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณสำรองลดน้อยลง เพราะมีการผลิตไปแล้ว 40 ปี กรมฯจึงกำลังศึกษาว่าสูตรราคาใหม่อาจจะอ้างอิง สัญญาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ระยะยาว หรือน้ำมันดิบ รวมถึงผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องมีประสบการณ์ในการสำรวจและผลิตในแหล่งปิโตรเลียมทั่วโลกที่มีกำลังผลิตไม่น้อยกว่าแหล่งเอราวัณ และบงกช นอกจากนี้ กรมฯจะเจรจากับ บมจ.ปตท. (PTT) ถึงหลักเกณฑ์การรับซื้อก๊าซฯว่าจะใช้รูปแบบใดที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของภาครัฐ


แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ