(เพิ่มเติม) สภาผู้ส่งออก คงเป้าส่งออกปีนี้โต 5% ขอรอดูสถานการณ์ ก.ย.-ต.ค. ก่อนพิจารณาปรับเป้าหมายใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 4, 2017 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ยังคงคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2560 ที่ 5% เท่าเดิม แม้จะมีปัจจัยบวกที่สำคัญ ได้แก่ 1.การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน(5) 2.ความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทยมีมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าจากคู่แข่งสำคัญ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ 3.การปรับตัวของสินค้าไทยต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดี ทาง สรท.จะขอประเมินสถานการณ์การส่งออกในเดือน ก.ย. และ ต.ค.นี้อีกครั้ง ก่อนจะพิจารณาว่าจะต้องปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ใหม่หรือไม่

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท. กล่าวว่า ทิศทางการส่งออกที่จะผลักดันให้ขยายตัว 7% นั้นต้องอาศัยปัจจัยหนุนหลายด้าน โดยภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี ซึ่งจะเห็นจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสสอง มีแนวโน้มดีขึ้น โดยตลาดที่สำคัญคือ CLMV ที่ไทยได้เปรียบเรื่องยุทธศาสตร์ที่ตั้ง

ขณะที่ยังมีปัจจัยลบที่สำคัญต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า ประกอบด้วย 1.สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาจเกิดความผันผวนจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า และการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้น

"อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 7.42% หลังต่างชาติประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้มีเงินทุนไหลเข้า ขณะที่ค่าเงินฟิลิปปินส์อ่อนค่า 3% ส่วนอินโดนีเซียและเวียดนามไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพมากขึ้น ไม่แข็งค่ามากไปกว่าคู่แข่งเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ...คงบอกไม่ได้ว่าค่าเงินบาทควรจะอยู่เท่าไหร่ แต่ฝากให้ดูไม่ให้แข็งค่ามากไปกว่าคู่แข่ง" ประธาน สรท.กล่าว

2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก 3.ปริมาณตู้บรรจุสินค้านำเข้าลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออก และอาจจะกระทบต่อปริมาณการส่งออกในไตรมาส 4 และส่งผลต่อการส่งออกในระยะยาว และ 4.สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ เช่น ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี เป็นต้น

น.ส.กัณญภัค กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีนั้นคงต้องรอดูว่าสถานการณ์จะบานปลายส่งผลกระทบหรือไม่ ในขณะที่ปัญหาแรงงานมีการผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งคงต้องดูว่าในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว รัฐจะมีแนวทางอย่างไร

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท.กล่าวว่า สรท.คงคาดการณ์ส่งออกปี 2560 ขยายตัวที่ระดับ 5% โดยขอรอดูสถานการณ์ส่งออกในเดือน ก.ย.-ต.ค.60 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการส่งออกมากสุดของทุกปีก่อน จึงจะประเมินได้ว่าภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ หากจะให้การส่งออกในปีนี้ขยายตัวในระดับ 7% มูลค่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนที่เหลือจะต้องมีมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 19,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการผลักดันการส่งออกในเดือน ส.ค.60 ให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องค่อนข้างยาก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้คาดว่าโอกาสที่การส่งออกในปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 5-6% มีความเป็นไปได้มากกว่า

"ถ้า 5 เดือนที่เหลือส่งออกเฉลี่ย 18,720 ล้านเหรียญฯ ปีนี้จะโต 5% แต่มีโอกาสโตได้ถึง 6% แต่ถ้าจะให้โต 7% ต้องให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 19,600 ล้านเหรียญฯ ซึ่งค่อนข้างจะเหนื่อยๆ" นายวิศิษฐ์ กล่าว

พร้อมมองว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากสุด คือ อัตราแลกเปลี่ยน โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าไป 7.42% แข็งค่าสุดในเอเชีย ทำให้ไม่เอื้อต่อการแข่งขันด้านการส่งออก โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร ซึ่งขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เฝ้าระวังการเก็งกำไรค่าเงินอยู่

"เงินบาทที่แข็งค่า ทำให้มูลค่าการส่งออกเมื่อทอนกลับมาเป็นเงินบาทแล้วหายไปประมาณ 2% กว่าๆ" นายวิศิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกได้มีข้อเสนอแนะที่สำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาการส่งออกในระยะต่อไป คือ 1.ต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่แข็งค่าสูงกว่าคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง โดยเฉพาะเกษตรต้นน้ำ

2.พัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือมีวงเงินเพียงพอสำหรับการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามปกติ ให้สามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างต่อเนื่อง

3.รัฐบาลต้องกำหนดรูปแบบและแนวทางการบริหาจัดการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมให้เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่เหมาะสมแลเพียงพอ ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

4.ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการออกกฎหมายใหม่ และแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยไม่มีอุปสรรคภายในประเทศ และสามารถรุกตลาดต่างประเทศและมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญมากขึ้น

5.ภาครัฐต้องสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ เพื่อให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์และทรัพยากรของประเทศที่เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะในประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ด้วยการสนับสนุนกฎระเบียบด้านการผ่านแดนเพื่อส่งออกผ่านประเทศไทย และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรณีที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศที่เข้าไปลงทุน เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ