กรมสรรพสามิตปรับขึ้นภาษี 2% รายได้เพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นลบ. เชื่อไม่มีการปรับขึ้นราคาขายปลีก

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday September 16, 2017 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 60 จะทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีตามอัตราใหม่ ปรับเพิ่มขึ้น 2% หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมกันนี้เชื่อว่าผู้ประกอบการจะไม่มีการปรับเพิ่มราคาขายปลีกขึ้นจนกลายเป็นภาระกับประชาชน เนื่องจากอัตราภาษีใหม่จะทำให้การแข่งขันของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น กลุ่มรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีบางค่ายรถยนต์ได้ประกาศปรับลดราคาขายลงในบางรุ่น โดยภาพรวมแล้วกลุ่มรถยนต์มีภาระภาษีเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2%

สำหรับกลุ่มเครื่องดื่มนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนับสนุน และเห็นด้วยกับอัตราภาษีใหม่ เพราะมีการเก็บภาษีตามปริมาณความหวาน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีกับสุขภาพของผู้บริโภค โดยสินค้าในกลุ่มนี้พบว่ามีแนวโน้มภาษีปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณความหวานที่เป็นส่วนประกอบ

“ภาษีจากค่าความหวานเดิมได้รับการยกเว้น 111 รายการ แต่ตามกฎหมายใหม่จะมีการถอดออกมา 2รายการ ได้แก่ ชา ชาเขียว และกาแฟ ที่ต้องเสียภาษีตามค่าความหวานทั้งในส่วนของมูลค่าและปริมาณ ส่วนเครื่องดื่มประเภทอื่นไม่ได้ถอดออกมาจากสินค้าที่ได้รับการยกเว้น แต่หากค่าความหวานเกินกว่าที่กฎหมายใหม่กำหนดก็จะต้องเสียภาษี 1 ขา คือ ขาปริมาณ โดยในส่วนนี้จะมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัว 6 ปี แบ่งเป็นรอบละ 2 ปี ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ได้ลดค่าความหวานในเครื่องดื่มลง อัตราภาษีที่จะต้องเสียก็จะปรับเพิ่มทุก 2 ปี" นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า ในส่วนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะมีการคิดอัตราภาษีใหม่ทั้งในด้านมูลค่าที่ 45% จากเดิม 80% และด้านปริมาณแอลกอฮอล์ 55% จากเดิม 20% และในอนาคตคาดว่าจะมีการปรับสัดส่วนการคำนวณนี้ในด้านปริมาณแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ขณะที่การจัดเก็บภาษีบุหรี่ ก็จะคิดตามมูลค่าและปริมาณเช่นเดียวกัน โดยในขาของปริมาณตามกฎหมายสรรพสามิตใหม่นั้น จะจัดเก็บอยู่ที่ 1.20 บาทต่อมวน ทำให้หลังจากนี้ทั้งบุหรี่ราคาถูกและราคาแพง จะมีภาระภาษีในส่วนของปริมาณอยู่ที่ 24 บาทต่อซอง ส่วนชามูลค่าสำหรับภาษีที่ราคาต่ำกว่า 60 บาท จะอยู่ที่ 20% และบุหรี่ที่ราคาสูงกว่า 60 บาท จะอยู่ที่ 40% โดยหลังจาก 2 ปีแรก จะมีการปรับภาษีในส่วนมูลค่าขึ้นเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดที่ 40%

“เรามองว่าเมื่อภาษีใหม่ออกมา การแข่งขันในตลาดก็จะสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจะมีการลดปริมาณแอลกอฮอล์ (ดีกรี) ลง เพื่อให้เสียภาษีถูกลง แต่ยังยืนยันว่าอัตราภาษีใหม่จะไม่ได้ไปเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการจนเกินไป เพราะตามหลักการของกฎหมายฉบับนี้คือทำให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นสากลมากขึ้น" นายสมชาย กล่าว

สำหรับสินค้าที่มีการเสียภาษีและเป็นอากรแสตมป์เดิมนั้น จะต้องขายตามราคาเดิม ห้ามปรับราคาขายขึ้นโดยอ้างว่าเป็นไปตามภาษีใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้อย่างเด็ดขาด โดยขอเตือนผู้ค้าอย่าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา เนื่องจากทางกรมสรรพสามิต ได้ร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งสามารถตรวจสอบจากอากรแสตมป์ได้ หากพบกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วย ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ผู้ใดกักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนด หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้ออกจำหน่าย หรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่ายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า อัตราภาษีสรรพสามิตที่ประกาศใช้ ได้ส่งผลให้สินค้ารายการสำคัญ มีภาระภาษีสรรพสามิตเปลี่ยนแปลง ดังนี้ น้ำอัดลมไม่ผสมน้ำตาล เสียภาษีลดลง 0.25-0.36 บาทต่อขวด น้ำอัดลมที่ผสมน้ำตาลเสียภาษีเพิ่มขึ้น 0.13-0.50 บาทต่อขวด เครื่องดื่มบำรุงกำลังเพิ่มขึ้น 0.32-0.90 บาทต่อขวด ยกเว้นขนาด 150 ซีซี เสียภาษีลดลง 0.11 บาท น้ำพืชผักผลไม้เสียภาษีเพิ่ม 0.06-0.54 บาทต่อขวด ชาเขียวเสียภาษีเพิ่มขึ้น 1.13-2.05 บาทต่อขวด กาแฟเสียภาษีเพิ่ม 1.35 บาทต่อขวด

ส่วนเบียร์กระป๋องภาษีเพิ่มขึ้น 0.50 บาท เบียร์ขวดเพิ่ม 2.66 บาท แต่เบียร์ราคาแพงเสียภาษีน้อยลง 0.99-2.05 บาท สุราขาว หรือเหล้าขาวเพิ่มขึ้น 0.84-3.49 บาทต่อขวด ตามขนาดและดีกรี ไวน์ผลิตในประเทศราคาไม่เกิน 1,000 บาท เสียภาษีลดลง 25 บาทขึ้นไป ไวน์นำเข้าเสียภาษีเพิ่มขึ้น 110 บาทขึ้นไป สุรากลั่น หรือเหล้าสี ที่ผลิตในประเทศ เพิ่มขึ้น 8-30 บาท เหล้าสีนำเข้าราคาลดลง 3-26 บาท และบุหรี่ราคาต่ำกว่า 60 บาท เสียภาษีเพิ่มขึ้นซองละ 4-15 บาท แต่บุหรี่ราคาเกิน 60 บาท เสียภาษีเพิ่มน้อยกว่า 2-14 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ