ส่งออกเบียดทวงคืนตำแหน่ง"พระเอกตัวจริง"ดัน GDP ลุ้นฟื้นโตเต็มศักยภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 27, 2017 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากลองกางบทวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของแต่ละสำนักไล่เรียงมาตั้งแต่ช่วงต้นปีจะพบว่าส่วนใหญ่ต่างให้มุมมองต่อภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้"ไม่ค่อยสดใสนัก"แม้แต่กระทรวงพาณิชย์เอง ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยยังตั้งเป้าหมายการส่งออกเติบโตเพียง 2.5-3.5% เท่านั้น (คาดการณ์เมื่อ ม.ค.60) เนื่องจากมองว่าภาคการส่งออกของไทยยังได้รับแรงกดดันที่สำคัญจากความเสี่ยงในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งความไม่ชัดเจนของนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญกดดันการค้าโลกในระยะต่อไป

ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ได้ประเมินแนวโน้มการส่งออกไทยปีนี้ไว้เมื่อช่วงต้นปี 60 ว่าจะเติบโตได้ในระดับ 2% เท่านั้น เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดไว้เมื่อเดือน ม.ค.ว่า การส่งออกปีนี้จะเติบโตได้เพียง 2.5% ส่วนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดไว้เมื่อเดือนก.พ.ว่า การส่งออกไทยปีนี้จะเติบโตได้เพียง 2.9% ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คาดไว้เมื่อเดือน มี.ค.ว่า การส่งออกปีนี้จะเติบโตแค่ 2.2%

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังมีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า การส่งออกของไทยในปีนี้จะต้องสดใสกว่าปี 59 ที่เติบโตได้เพียง 0.45% เท่านั้น เนื่องจากมองว่าหลายกลุ่มสินค้าของไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัวและอุปสงค์โลกยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เชื่อว่าการส่งออกของไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ตามศักยภาพที่ 5% เมื่อสถานการณ์โลกปรับตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 60 จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน และกลับเข้าสู่ Normal Track ของ Export Cycle โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเพิ่มสูงตามไปด้วย พร้อมย้ำว่ากระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการในทุกรูปแบบเพื่อให้การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายใหม่ที่ตั้งไว้ที่ 5% ให้ได้มากที่สุด

ซึ่งเป้าหมายการส่งออกใหม่นี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) เมื่อเดือนก.พ.60 ซึ่งนายสมคิดเองก็ยอมรับว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนั้น เป้าหมายที่ 5% ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่ก็ต้องทำให้ได้ เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่าประเทศคู่ค้าหลักของไทยมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าปีก่อน รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรในปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย

...ต้นปีทุกสำนักฟันธง "ลงทุนภาครัฐ" พระเอกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ...

ตัดภาพมาที่เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ซึ่งในช่วงต้นปี สศค.ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.6% สร้างฝันว่าแรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และการพัฒนาท่าอากาศยาน ประกอบกับแนวโน้มรายได้เกษตรกรที่จะปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่จะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าจากไทย

ด้าน ธปท.คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีเช่นกันว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 3.4% โดยการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ การส่งออกสินค้าฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในหลายกลุ่มสินค้า นำโดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ตามความนิยมในการใช้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ที่มากขึ้น รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญคลี่คลายลง นอกจากนี้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้นทั้งด้านราคาและผลผลิต

ขณะที่สภาพัฒน์เองให้มุมมองไว้ในช่วงต้นปีโดยประเมินว่า GDP ปีนี้จะโตในระดับ 3.0-4.0% โดยให้ปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการสำคัญๆ ที่จะเข้าสู่ช่วงการก่อสร้างมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกที่จะช่วยหนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการฟื้นตัวของการผลิตภาคเกษตร ที่ช่วยหนุนฐานรายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคเกษตรให้ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าแต่ละหน่วยงานยังยกให้ "การใช้จ่ายภาครัฐ" โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลเป็น "พระเอก" ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ในขณะที่การส่งออกยังเป็นเพียง "พระรอง" เท่านั้น แต่เมื่อผ่านเข้าสู่เดือนที่ 5 ของปี การส่งออกพลิกความคาดหมายชึ้นมาโตถึง 2 digit โดยในเดือนพ.ค.60 ขยายตัวถึง 13.2% สูงสุดในรอบ 52 เดือน และหลังจากเดือน พ.ค.เป็นต้นมาจนถึงล่าสุดเดือนส.ค.เติบโต 2 digit อย่างต่อเนื่อง และสูงสุดในรอบ 55 เดือน ทำให้การส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.60) ขยายตัวได้แล้วถึง 8.9%

...เกิดอะไรขึ้นกับการส่งออกของไทย...

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้เหตุผลว่า การส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การส่งออกขยายตัวดีขึ้นในทุกตลาดสำคัญ ทั้งตลาดหลัก ตลาดศักยภาพสูง และตลาดศักยภาพรอง รวมทั้งยังขยายตัวในระดับสูงทุกกลุ่มสินค้า ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ยางพารา, น้ำตาลทราย, ผัก-ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมก็ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง, เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์, รถยนต์และส่วนประกอบ, คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า

ขณะที่สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าเมื่อพิจารณาแล้วก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปีนี้มากนัก เนื่องจากเป็นการแข็งค่าสอดคล้องกับค่าเงินของประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่าง Quote ราคาสินค้าและมีคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่ทั้งนี้ ยังต้องติดตามต่อไปในปีหน้าว่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมากน้อยเพียงใด

...สถานการณ์พลิก ส่งออกสดใส ทวงคืนบทพระเอกกู้เศรษฐกิจไทย...

จากสถานการณ์จริง เมื่อการส่งออกเริ่มกลับมาฉายแววสดใส แซงหน้าการฝากความหวังเศรษฐกิจไทยไว้กับการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่อาจจะไม่ใช่ "พระเอกตัวจริง" อย่างที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ เพราะแม้แต่ สศค.เอง ยังปรับลดการเติบโตการลงทุนภาครัฐในปีนี้เหลือ 9.8% (ประมาณการ ก.ค.60) จากก่อนหน้านี้ที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ 10.9% (ประมาณการ ณ เม.ย.60) ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ มีหรือที่หลายหน่วยงานจะไม่เริ่มกลับมาคิดใหม่ ว่าแท้จริงแล้ว "พระเอกตัวจริง" ของเศรษฐกิจไทยคือใครกันแน่

รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ของ สศค.ตั้งแต่เดือนมี.ค.60 จนถึงฉบับล่าสุดเดือนก.ค.60 ระบุว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับ"แรงขับเคลื่อนสำคัญ"จากการส่งออก พร้อมกับปรับประมาณการอัตราการเติบโตของส่งออกไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 4.7% (ประมาณการ ก.ค.60) จากก่อนหน้านี้เคยคาดไว้ที่ 3.3% (ประมาณการ เม.ย.60) และยังแย้มว่าในการประมาณการเศรษฐกิจไทยอีกครั้งในช่วงเดือน ต.ค.นี้ สศค.อาจจะปรับอัตราการขยายตัวของ GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 3.6% เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาด ขณะที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เอง ยังได้ปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ใหม่ว่ามีโอกาสที่จะเติบโตไม่ต่ำกว่าระดับ 6-7% ซึ่งถือว่ามีนัยสำคัญต่อภาพรวมการขยายตัวของ GDP ในปีนี้

เช่นเดียวกับสภาพัฒน์ ในการแถลงข่าวล่าสุดเมื่อเดือน ส.ค.ได้มีการปรับประมาณการแนวโน้ม GDP ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4.0% จากเดิมที่ 3.3-3.8% (ประมาณการ พ.ค.60) พร้อมคาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 5.7% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มองไว้เพียง 3.6% แต่ได้ปรับลดการเติบโตของการลงทุนภาครัฐในปีนี้ลงเหลือเพียง 8% จากเดิมที่ 12.6% ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนภาครัฐในไตรมาส 2/60 ลดลงถึง 7% จากไตรมาส 1/60 ที่เติบโต 9.7% โดยสภาพัฒน์ให้เหตุผลว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญอันดับแรก คือ การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออก ตามการเร่งตัวขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่วนปัจจัยรองลงมา คือ การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยอมรับว่า ในช่วงต้นปีศูนย์วิจัยฯ ไม่ได้มองว่าการส่งออกจะเป็นตัวหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ เพราะมองว่าการส่งออกคงจะเติบโตเพียงเล็กน้อยจากปี 59 เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศเพิ่งเริ่มฟื้นตัว โดยขณะนั้นมองว่าส่งออกปีนี้จะเติบโตแค่ 0.8% เท่านั้น (ประมาณการเมื่อ ม.ค.60) และเชื่อว่าการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้เติบโตได้ โดยเฉพาะแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่น่าจะเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมได้บ้าง

"แต่พัฒนาการที่เห็น กลับพบว่าการส่งออกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี จากเดิมที่เรามองว่าปีนี้ส่งออกคงจะบวกเล็กน้อย ไม่แรงมาก แต่จริงๆ แล้วทั้งปัจจัยด้านราคาและด้านปริมาณได้ช่วยหนุนให้ส่งออกไทยเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักต่อเนื่องติดกันหลายเดือน ล่าสุด เราจึงได้ปรับมุมมองของการส่งออกปีนี้ใหม่เป็น 7%"นางพิมลวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เริ่มทยอยปรับประมาณการส่งออกไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในเดือน มี.ค.60 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2% และเดือน มิ.ย.60 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% ล่าสุดได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 7% พร้อมระบุว่า การปรับประมาณการมูลค่าส่งออกขึ้นมาอยู่ในระดับ 7% นั้นอาจจะส่งผลให้ต้องมีการประเมิน GDP ของปีนี้ใหม่จากปัจจุบันที่มองว่าจะเติบโตได้ 3.4% ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับกรอบบนที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 3.6% (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะแถลงการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 60 อย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือน ต.ค.)

นางพิมลวรรณ กล่าวว่า การลงทุนภาครัฐจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญต่อการทบทวนตัวเลข GDP ปีนี้ใหม่ เพราะจากเดิมที่เคยมองไว้ว่าการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐจะเป็นพระเอกมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่บางโครงการยังมีความล่าช้าในขั้นตอนการปฏิบัติ นอกจากนี้ งบกลางปีที่จะลงไปในโครงการระดับภูมิภาคนั้น บางส่วนยังมีปัญหาความล่าช้าในการเบิกจ่าย เนื่องจากมีขั้นตอนการตรวจสอบที่ต้องทำให้เกิดความโปร่งใส และใช้งบประมาณให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลอย่างแท้จริง

"เราเห็นสัญญาณลบในเรื่องการลงทุนภาครัฐ ซึ่งไม่ได้ดีอย่างที่คาด เดิมเราเคยมองไว้ที่ 8-8.5% แต่ตอนนี้คงไม่ถึงแล้ว โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐอาจล่าช้าออกไปในทางปฏิบัติ เพราะแม้จะประมูลได้ แต่ก็ยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปีนี้ นอกจากนี้ งบกลางปีที่จะลงไปในท้องถิ่นยังมีการเบิกจ่ายล่าช้า เพราะต้องตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส และต้องใช้จ่ายให้ตรงวัตถุประสงค์" นางพิมลวรรณระบุ

นอกจากนี้ ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนเองก็ยังพบว่ามีความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ไม่ชัดเจนนัก และมีการฟื้นตัวเฉพาะบางภาคส่วนเท่านั้น ซึ่งยังไม่ใช่การฟื้นตัวในภาพรวม

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ จะขยายตัวที่ 5.5% (ประมาณการ ก.ย.60) จากเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ที่มีแนวโน้มเติบโตดีตลอดปี ประกอบกับความกังวลทางการเมืองในยุโรปที่ลดลง ซึ่งจะช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้กับการค้าและการลงทุน และส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทยให้ฟื้นตัวได้ต่อในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าสินค้าโภคภัณฑ์อาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มขยายตัวที่ชะลอลง และเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ทั้งนี้ การส่งออกอาจเติบโตได้มากกว่า 5.5% หากภาคอุตสาหกรรมและการค้าโลกยังคงขยายตัวได้ดีเกินคาดอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปี (ม.ค.60) SCB EIC เคยประเมินว่าการส่งออกของไทยปีนี้จะขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.5% ตามปริมาณการค้าโลกที่ยังซบเซา และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งยังคงกดดันสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ แต่ทิศทางการฟื้นตัวของราคาน้ำมันจะส่งผลให้ราคาและมูลค่าการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันพลิกกลับมาขยายตัวได้ในปีนี้ รวมถึงรายได้และกำลังซื้อของกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น จะช่วยเพิ่มความต้องการสินค้าส่งออกบางประเภทด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า หลายหน่วยงานเริ่มกลับมาให้มุมมองที่ดีขึ้นต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ และมีโอกาสสูงในการทวงคืนบทบาทพระเอกกอบกู้เศรษฐกิจไทย หลังจากที่เผชิญกับภาวะขาลงต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 55 และเพิ่งจะโงหัวขึ้นในปี 59 ที่การเติบโตเพียง 0.45% ดังนั้น ต้องติดตามการแถลงข้อมูลอย่างเป็นทางการของแต่ละหน่วยงานตลอดช่วง 1-2 เดือนนี้ ทั้ง ธปท. และ สศค.ว่าเมื่อเห็นแววการส่งออกที่กลับมาสดใสเช่นนี้แล้ว จะมีการปรับเพิ่มประมาณการ GDP ในปีนี้เข้าไปใกล้ระดับ 4% ซึ่งเป็นระดับที่เศรษฐกิจไทยใกล้สู่การเติบโตที่เต็มศักยภาพอย่างที่รัฐบาลมุ่งหวังได้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ