IMF-เวิลด์แบงก์ เรียกร้องสมาชิกปรับปรุงโครงสร้าง-กฎระเบียบภายในปท., ใช้นวัตกรรมการเงินลดความเหลื่อมล้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 18, 2017 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า ตามที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ปี 2560 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างวันที่ 12 - 14 ตุลาคม 2560 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

สำหรับการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2560 เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ว่าการธนาคารโลกและผู้ว่าการ IMF จากสมาชิก 189 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้ นาย Imad Najib Fakhoury ผู้ว่าการธนาคารโลกของจอร์แดน ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม

โดยนาย Jim Yong Kim ประธานธนาคารโลก และนาง Christine Lagarde กรรมการผู้จัดการ IMF กล่าวสุนทรพจน์ครอบคลุม 3 ประเด็นหลักเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนประกอบด้วย การระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์โดยมุ่งเน้นถึงการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ IMF ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกขึ้นจาก 3.2% ในปี 59 มาอยู่ที่ 3.6% ในปี 2560 และเพิ่มเป็น 3.7% ในปี 61 ซึ่งสะท้อนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการเติบโตของการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์

สำหรับประเทศไทยนั้น IMF ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 60 ขึ้นจาก 3.2% เป็น 3.7% และได้เพิ่มประมาณการสำหรับปี 61 จาก 3.3% เป็น 3.5%

อนึ่ง ธนาคารโลกและ IMF ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกเร่งปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง โดยรมว.คลังในฐานะผู้ว่าการธนาคารโลกของไทยได้นำเสนอถ้อยแถลงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของไทย ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงมาตรการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทยผ่านระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังได้ให้ความมั่นใจว่าประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับทั้ง 2 องค์กรเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนการประชุมร่วมระหว่างผู้ว่าการของประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและ IMF (Joint Meeting of the World Bank-IMF Southeast Asia Group (SEA Group)) ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของกลุ่มออกเสียง SEA Group ในรอบปีที่ผ่านมาและแนวทาง การดำเนินงานที่สำคัญในอนาคต พร้อมยืนยันสนับสนุนแผนการเพิ่มทุนของธนาคารโลกเพื่อให้สามารถขับเคลื่อน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกและ IMF เกี่ยวกับบทบาทของนวัตกรรมทางการเงินในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลสำหรับลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการจ่ายเงิน การโอนเงิน การออมเงิน การขอสินเชื่อ และการบริหารความเสี่ยง ประกอบกับนวัตกรรมทางการเงินสามารถช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้ และเพิ่มความสะดวก ความรวดเร็ว และความปลอดภัยในการทำธุรกรรมแก่ผู้ใช้ พร้อมทั้งช่วยลดต้นทุนการให้บริการทางการเงิน และเพิ่มฐานข้อมูลแก่ผู้ประกอบการอีกด้วย

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 96 (96th Development Committee Meeting) เป็นการประชุมของผู้ว่าการธนาคารโลกที่เป็นผู้แทนจากกลุ่มออกเสียงของประเทศสมาชิกจำนวน 25 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะแนวนโยบายต่อผู้บริหารธนาคารโลก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและเกิดการพัฒนาในประเทศสมาชิก

โดยครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยในฐานะผู้แทนของกลุ่มออกเสียง SEA Group ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ความสำคัญของการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างแท้จริง เพราะการศึกษานอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้แล้ว คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่สูงขึ้นยังเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (2) การส่งเสริมบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการลงทุนเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนความเชื่อมโยงในภูมิภาค

(3) ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกเร่งหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางเพิ่มทุนของธนาคารโลกให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2561 เพื่อให้ธนาคารโลกมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งในการดำเนินการตามพันธกิจได้ และ (4) ได้กระตุ้นให้ธนาคารโลกเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนประเทศสมาชิกทั้งในด้านเงินทุนและความช่วยเหลือทางวิชาการ

ในการประชุมทวิภาคี ในโอกาสนี้ รมว.คลังได้หารือทวิภาคีกับนาง Victoria Kwakwa รองประธาน ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างไทยและธนาคารโลกภายใต้กรอบความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศที่อยู่ระหว่างการจัดทำ โดยรมว.คลังได้ชี้แจงถึงพันธกิจของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างแท้จริง และการเพิ่มความเข้มแข็งของโครงข่ายความคุ้มครองด้านสวัสดิการพื้นฐานให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ รมว.คลังได้หารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินต่างประเทศ อาทิ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น ธนาคารมิซูโฮ จำกัด เป็นต้น โดยสถาบันการเงินต่างประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคและอาเซียน ประกอบกับมีระบบการเงินและตลาดทุนที่แข็งแกร่ง และได้แสดงความสนใจในการสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (Eastern Economic Corridor: EEC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ