กยท.ร่วมทุกภาคส่วนเดินหน้าแก้ไขปัญหาราคายางผันผวน เร่งมาตรการสร้างเสถียรภาพด้านราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday October 28, 2017 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทยร่วมกับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ประชุมหารือแนวทางรับมือสถานการณ์ยางที่ผันผวน เร่งออกมาตรการแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคายาง โดยกล่าวในที่ประชุมถึงข้อหารือเรื่อง มาตรการแก้ปัญหาราคายางในประเทศที่ผันผวน เพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง และสร้างเสถียรภาพราคา

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้ดำเนินการทั้งระบบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง เริ่มจากต้นทาง มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการรับซื้อน้ำยางสดให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ในส่วนนี้มีสมาคมน้ำยางข้นไทย ร่วมบูรณาการอย่างเต็มที่ นำโดยนายชัยพจน์ เรืองอรุณวัฒนา นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งตลาดกลางน้ำยางข้นของ กยท. ขึ้นที่ จ. สงขลาเป็นแห่งแรก และจะมีการขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในส่วนของ กยท.จะเป็นตัวกลางการจับคู่หรือหาผู้ซื้อผู้ขายที่มีคุณภาพและสามารถขายได้ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เกิดความพอใจกับทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งสมาคมน้ำยางข้นไทยจะรับข้อมูลไปประสานและชี้แจงกับสมาชิกของกลุ่มให้เข้าใจ เพื่อการขยายผลความต้องการที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นมาตรการที่จะผลักดันให้เกิดเสถียรภาพของราคาน้ำยางสดในแต่ละพื้นที่ได้ต่อไป

นายธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมาตรการขั้นกลางทางนั้น จะใช้กลไกของตลาดกลางของ กยท. จำนวน 6 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้ทำการปรับปรุงการให้บริการ เรื่องการพัฒนาระบบตลาดกลางให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งเร่งสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้องที่เข้ามาใช้บริการ อาทิ การประกาศราคากลาง เป็นราคาที่มาจากการเฉลี่ยราคาจากตลาดหลักๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายทราบราคาก่อนซื้อขาย ส่งผลต่อการตกลงซื้อขายในตลาดเอกชนอื่นๆ ได้ ดังนั้น การกำหนดกรอบราคาจะทำให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขาย และที่สำคัญจะส่งผลให้เกิดเสถียรภาพราคา แต่หากการซื้อขายไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยระบบประมูลในกรอบของราคาได้ ก็ยังคงมีเงื่อนไขของการตกลงราคา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ซื้อผู้ขาย ฉะนั้น ตลาดกลางจึงเป็นคนกลางที่จะอำนวยความสะดวกให้ทั้งผู้ซื้อผู้ขายให้ได้มาพบกันเพื่อเกิดการซื้อขายกันได้ในจุดที่เป็นธรรมต่อกัน

นอกจากนี้ กยท. จะมีการลงนามความร่วมมือกับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราหลายๆ ชนิด เช่น การนำยางพาราไปแปรรูปเป็นหลักเขตกิโลเมตร ซึ่งในแต่ละปีมีความต้องการใช้มากกว่า 150,000 ต้น ประมาณการใช้ยางไม่ต่ำกว่า 3,000,00 กิโลกรัมต่อครั้ง เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะมีการนำงานวิจัยไปใช้และพัฒนาเพิ่มเติมอีกในอนาคต และนี่จะเป็นอีกหนึ่งมาตรการปลายทางที่ กยท. และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ จะร่วมบูรณาการตามนโยบายการส่งเสริมใช้ยางในประเทศให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

​          “มาตรการที่กล่าวถึงมาข้างต้น ที่ กยท.ได้ร่วมกับผู้แทนจากเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยางนั้น เรามีความพร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนไปทั้งสามแนวทาง ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง" ดร.ธีธัช กล่าวย้ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ