ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าหลังดอลล์แข็ง ตลาดจับตาประธานเฟดคนใหม่-มาตรการปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 30, 2017 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00-1.25% ต่อเนื่องในการประชุมรอบเจ็ดของปี 2560 ในวันที่ 31 ต.ค.- 1 พ.ย. 2560 นี้ เพื่อรักษาระดับนโยบายการเงินผ่อนคลายอีกระยะ และหลีกเลี่ยงในการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวในระดับที่มากเกินไป เพื่อป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเข้ามากระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ พัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งคงสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม 2560 ตามที่เฟดได้มีการส่งสัญญาณไว้ โดยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับใกล้ 60 อันบ่งชี้ถึงมุมมองเชิงบวกอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนยังขยายตัวได้ดีแม้ว่าจะเผชิญกับพายุเฮอริเคนบ่งชี้ถึงภาคการบริโภคที่ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวน่าจะช่วยหนุนให้เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกครั้งในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้

อย่างไรก็ดี จุดสนใจของตลาดการเงินอาจมุ่งไปที่การแต่งตั้งประธานเฟดคนใหม่ รวมทั้ง โอกาสที่ปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ อาจจะได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ซึ่งอาจจะมีนัยต่อจังหวะการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

โดยปัจจัยที่ตลาดการเงินสนใจคงจะเป็นการเสนอชื่อประธานเฟด ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นผู้เสนอรายชื่อเพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาลงมติเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากสมาชิกพรรครีพับลิกันต่อการดำรงตำแหน่งประธานเฟดสมัยที่ 2 ของนางเยลเลน อาจส่งผลให้ประธานาธิบดีทรัมป์ เสนอรายชื่อบุคคลอื่นเพื่อดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนต่อไป อันอาจจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยเฉพาะหากประธานเฟดคนใหม่มีมุมมองสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว อาจส่งผลให้จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ เร่งตัวขึ้นได้

หากพิจารณารายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่พบว่า 2 ใน 4 รายชื่อนั้นมีมุมมองสนับสนุนนโยบายการเงินที่ตึงตัว ได้แก่ นายเควิน วอร์ช (Kevin Warsh) และนายจอห์น เทย์เลอร์ (John Taylor) ขณะที่ผู้สนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ได้แก่ นายเจอโรม โพเวล (Jerome Powell) ปัจจุบันเป็นผู้ว่าการเฟด และนายแกรี่ โคห์น (Gary Cohn) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งนี้ หากนายโพเวล ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานเฟดคนใหม่ ไม่น่าจะส่งผลให้คาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่หากนายเทย์เลอร์ หรือนายวอร์ช ได้รับการแต่งตั้งอาจจะส่งผลต่อจังหวะที่เร่งขึ้นของการดำเนินนโยบายการเงินในการปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล

นอกจากนี้ หากมาตรการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ ผ่านสภาคองเกรสจะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีหน้า ทั้งนี้ สภาคองเกรสได้ผ่านร่างผ่านกรอบกฎหมายงบประมาณ (Budget Resolution) ประจำปี 2561 มูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ อันเป็นสัญญาณเชิงบวกทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านมาตรการปรับลดภาษีน่าจะผ่านการเห็นชอบจากสภาคองเกรสในช่วงต้นปี 2561 ก่อนที่จะถึงช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ มาตรการทางภาษีจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และส่งผลต่อเงินเฟ้อให้ปรับเข้าใกล้กรอบเป้าหมายของเฟดที่ 2.0% ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า

สำหรับผลต่อประเทศไทย การส่งสัญญาณถึงเส้นทางในการดำเนินนโยบายการเงินที่เป็นปกติมากขึ้นของเฟด คงส่งผลให้การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคงส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ กลับมาแข็งค่า ซึ่งเป็นการช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทได้บางส่วน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวเร่งขึ้นมายังเป็นไปในลักษณะกระจายตัวยังไม่ทั่วถึง อาจจะส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ระดับ 1.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุนของไทยยังคงจำกัด จากพื้นฐานเศรษฐกิจภายนอกที่มีความแข็งแกร่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ